นกร้องเพลงตัวผู้ที่อายุยังน้อยมักจะเรียนรู้เสียงเพลงของพวกมันจากการขับขานของนกที่โตเต็มวัย แต่เมื่อลูกนกเหล่านั้นไม่มีนกที่โตกว่ามาคอยสอน พวกมันจึงหาคู่ได้น้อยลง
เป็นเวลาห้าปีมาแล้วที่ รอสส์ เครทส์ (Ross Crates) นักนิเวศวิทยาจากมหาวิทยาลัย Australian National University ได้ศึกษาความสามารถในการร้องเพลงและการผสมพันธุ์ของนกที่มีชื่อเรียกว่า regent honeyeaters
นกที่มีสีดำและสีเหลืองเหล่านี้เคยพบได้ทั่วไปในออสเตรเลีย แต่การสูญเสียพื้นที่อยู่อาศัยตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1950 ทำให้ประชากรของพวกมันลดลงเหลืออยู่ในป่าเพียง 300 หรือ 400 ตัวในปัจจุบัน
ทั้งนี้ นกตัวผู้เคยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ในฤดูหนาว แต่ตอนนี้พวกมันกระจายไปทั่วประเทศ หลายตัวก็แยกไปบินอยู่ตามลำพัง ซึ่งนั่นก็หมายถึงว่า มีนก honeyeater ที่โตเต็มวัยคอยอยู่ใกล้ ๆ กับลูกนกในช่วงปีแรกของชีวิตพวกมันน้อยลง
Crates กล่าวว่า การเรียนรู้เพลงของนกหลายชนิดเป็นกระบวนการที่คล้ายกับมนุษย์ในการเรียนภาษา พวกมันเรียนรู้โดยการฟังเสียงจากนกตัวอื่น ๆ
นักวิจัยพบว่า นกตัวผู้จำนวนมากดูเหมือนจะเรียนรู้เพลงจากสายพันธุ์อื่น ๆ เท่านั้น โดยราว 12 เปอร์เซ็นต์ของนก regent honeyeaters จะเลียนแบบเสียงเพลงของนกชนิดอื่น ๆ เช่น friarbirds, นก black-faced cuckooshrikes เป็นต้น
การศึกษาวิจัยที่ตีพิมพ์อยู่ในวารสาร Proceedings of the Royal Society B ชี้ว่า เมื่อนกตัวผู้ไม่ได้ร้องเพลงธรรมชาติของสายพันธุ์ของตน จะทำให้หาคู่ได้ยากขึ้น
Peter Marra นักชีววิทยาด้านการอนุรักษ์ที่มหาวิทยาลัย Georgetown University ซึ่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษานี้กล่าวว่า “งานวิจัยชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่าการสูญเสียภาษาเพลงในขณะที่ประชากรนกมีจำนวนน้อย อาจเป็นการเร่งให้นกมีจำนวนลดลงไปอีก”
อย่างไรก็ดี เหตุผลที่แท้จริงที่นกตัวเมียไม่ยอมรับนกตัวผู้นั้นยังไม่ชัดเจน
Scott Ramsay นักนิเวศวิทยาเชิงพฤติกรรมที่มหาวิทยาลัย Wilfrid Laurier University ในออนตาริโอ ประเทศแคนาดา ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในการวิจัย กล่าวว่า เสียงเพลงของนกตัวผู้ก็เปรียบเสมือนการโฆษณาตัวเอง เพื่อบอกให้นกตัวเมียรู้ว่าตนกำลังหาคู่อยู่
Ramsay กล่าวเพิ่มเติมว่า นก honeyeaters ตัวเมียอาจไม่จะไม่เคยได้ยินเสียงเพลงที่ไม่คุ้นหูจึงไม่ยอมเข้าใกล้นกตัวผู้ที่ร้องเพลงเหล่านั้น หรืออาจเป็นไปได้ว่าพวกมันเข้าไปใกล้แล้ว แต่นกตัวผู้ไม่เป็นตามที่คาดหวังไว้
ทั้งนี้ นกตัวผู้ส่วนใหญ่ใช้เวลาหลายเดือนในช่วงปีแรกในการเรียนรู้เพลงที่พวกมันจะร้องไปตลอดชีวิต นกบางตัวเรียนรู้เสียงเพลงจากพ่อนก แต่นก regent honeyeaters จะออกจากรังก่อนที่พวกมันจะเรียนรู้ที่จะร้องเพลง ดังนั้น นกตัวผู้จึงต้องหานกชนิดอื่นเพื่อเรียนรู้และเลียนแบบเสียงเพลงเหล่านั้น
Carl Safina นักนิเวศวิทยาที่มหาวิทยาลัย Stony Brook กล่าวว่า “เราต้องตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์วัฒนธรรมการร้องเพลงของนก เพราะนั่นเป็นสิ่งที่นกเหล่านี้ต้องทำเพื่อความอยู่รอด ซึ่งไม่ใช่สัญชาตญาณ แต่เป็นการเรียนรู้”
ทีมวิจัยของ Crates ได้เริ่มนำสิ่งที่ตนค้นพบไปใช้เพื่อช่วยให้ลูกนกในโครงการสืบพันธุ์ ได้เรียนรู้เสียงเพลงของพวกมัน โดยนักวิจัยได้เปิดเสียงของนกตัวผู้ที่บันทึกไว้ให้ลูกนกฟัง นอกจากนี้ยังได้นำนกตัวผู้ที่มีทักษะในการร้องเพลงไปไว้ใกล้ ๆ กับบรรดาลูกนกที่กำลังเรียนรู้ โดยตั้งความหวังว่านกที่มีประสบการณ์เหล่านี้จะสามารถถ่ายทอดบทเพลงของพวกมันไปยังนกรุ่นต่อไปได้