เจ้าหน้าที่กู้ภัยอินเดียเปลี่ยนวิธีไปใช้การขุดด้วยมือแทนการสอดท่อเข้าไป เพื่อช่วยเหลือคนงาน 41 คนที่ติดอยู่ในอุโมงค์ซึ่งพลังถล่มลงมาในแถบเทือกเขาหิมาลัยเมื่อ 16 วันที่แล้ว
เจ้าหน้าที่กล่าวเมื่อวันจันทร์ว่า จะใช้วิธีขุดเหมืองแบบที่เรียกว่า "รูหนู" คือการขุดช่องแคบ ๆ ให้พอแทรกตัวได้ผ่านเข้าไปในเศษหินและดินที่ถล่มลงมาเพื่อเข้าถึงด้านในของอุโมงค์
พลโทฮาร์พาล ซิงห์ อดีตนายทหารของกองทัพอินเดีย ผู้ให้คำปรึกษาด้านการช่วยเหลือผู้ที่ติดภายในอุโมงค์ กล่าวว่า "ขณะนี้ไม่มีวิธีอื่นนอกจากการใช้มือขุด ซึ่งเป็นวิธีที่ปลอดภัยในการเข้าถึงคนงานเหล่านั้น" โดยจะมีมาตรการดูแลความปลอดภัยสำหรับผู้ที่ทำงานขุดเจาะเศษหินและดินดังกล่าวด้วย
อุโมงค์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการก่อสร้างทางหลวงขนาดใหญ่ในรัฐอุตตราขัณฑ์ทางภาคเหนือของอินเดีย พังถล่มลงมาเมื่อวันที่ 12 พ.ย. ทำให้คนงาน 41 คนติดอยู่ด้านใน
เจ้าหน้าที่กู้ภัยพยายามใช้อุปกรณ์ขุดเจาะเพื่อสอดท่อเข้าไปให้คนงานลอดออกมา แต่ประสบความล้มเหลวหลายครั้งเนื่องจากไม่สามารถเจาะผ่านก้อนหินขนาดใหญ่ ประกอบกับมีความเปราะบางของพื้นที่ในบริเวณนั้น
เมื่อวันศุกร์ เครื่องมือขุดเจาะตัวหนึ่งเกิดความเสียหายอย่างหนักขณะขุดเข้าไปห่างจากอุโมงค์ราว 14 เมตร
ขณะเดียวกัน การขุดเจาะลงไปจากด้านบนของภูเขายังคงดำเนินต่อไปเพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการช่วยเหลือบรรดาคนงาน แม้ว่าจะมีความเสี่ยงสูงกว่าที่อาจทำให้เกิดดินถล่มลงมาอีกรอบ
มาห์มูด อาหมัด ผู้บริหารของบรรษัทพัฒนาทางหลวงและโครงสร้างพื้นฐานแห่งชาติของอินเดีย กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ว่า "เราต้องเจาะลงไปจากด้านบนราว 86 เมตรภายในเวลา 4 วัน คือภายในวันที่ 30 พ.ย. โดยหวังว่าจะไม่มีอุปสรรคและจะสามารถทำงานสำเร็จได้ตามเวลา"
การติดต่อสื่อสารกับคนงานทั้ง 41 คนยังคงดำเนินต่อไปภายใต้ภารกิจช่วยเหลือพวกเขา ผ่านทางกล้องขนาดเล็กที่ใส่ไปกับท่อความกว้าง 15 ซม.ที่สอดเข้าไปด้านในของอุโมงค์ตั้งแต่วันอังคารที่แล้ว โดยมีการส่งอาหาร โทรศัพท์มือถือ และยาต่าง ๆ ผ่านท่อดังกล่าว รวมทั้งส่งอ็อกซิเจนผ่านทางอีกท่อหนึ่งด้วย
จนถึงขณะนี้ ทางการอินเดียยังมิได้เปิดเผยสาเหตุของอุโมงค์ถล่มครั้งนี้
การก่อสร้างอุโมงค์ความยาว 4.5 กิโลเมตรในรัฐอุตตราขันธ์ คือส่วนหนึ่งของโครงการสร้างทางหลวงแห่งชาติบนเส้นทางแสวงบุญ ชาร์ธัม ของชาวฮินดู
ทางหลวงชาร์ธัม คือหนึ่งในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลอินเดียภายใต้นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี โดยมีเป้าหมายเชื่อมสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาฮินดู 4 แห่งไว้ด้วยกันผ่านถนนสองเลนเป็นระยะทาง 889 กม. มูลค่าโครงการ 1,500 ล้านดอลลาร์
การก่อสร้างส่วนที่เป็นอุโมงค์เริ่มขึ้นเมื่อปี 2018 และมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2022 แต่ต้องเลื่อนไปเป็นปี 2024 เนื่องจากเผชิญกับเสียงวิจารณ์เรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความเปราะบางของพื้นที่ในบริเวณนั้น ทำให้การก่อสร้างต้องระงับไปชั่วคราวหลังจากที่บ้านเรือนหลายร้อยแห่งได้รับความเสียหายจากการทรุดตัวของพื้นที่ตลอดการก่อสร้างเส้นทางสายนี้
- ที่มา: วีโอเอ และรอยเตอร์