ตำรวจแคนาดาจับนักศึกษามหาวิทยาลัย เชื้อสายลูกครึ่งแคนาดา -ฝรั่งเศส ที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อเหตุยิงผู้คนในมัสยิดแห่งหนึ่งใจกลางเมืองควิเบก เมื่อวานนี้ (29 ม.ค.)
นาย อเล็กซานเดร บิสโซเนทท์ (Alexandre Bissonnette) วัย 27 ปี ถูกตั้งข้อหา ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนจนมีผู้เสียชีวิต 6 ราย และข้อหาพยายามฆ่าที่ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสอีก 5 ราย จากเหตุการณ์สังหารหมู่ในมัสยิด ที่นายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีของแคนาดา ประณามการกระทำในครั้งนี้ว่า เยี่ยงการโจมตีของผู้ก่อการร้ายที่มุ่งเป้าไปที่ชาวมุสลิม
มือปืนกราดยิงผู้คนที่รวมตัวกันราวๆ 50 คนในศูนย์วัฒนธรรมอิสลามแห่งควิเบก ในพิธีละหมาดเมื่อค่ำวันอาทิตย์ (29 ม.ค.) โดย เจ้าหน้าที่ คริสติยง คูลอมเบ (Christine Coulombe) โฆษกตำรวจแคนาดา บอกว่า ผู้เสียชีวิตทั้ง 6 รายมีอายุตั้งแต่ 35-70 ปี ขณะที่มี 8 รายที่ได้รับบาดเจ็บ ในจำนวนนี้มีอาการสาหัส 5 ราย
ขณะที่ผู้ต้องสงสัยอีก 1 รายถูกตำรวจควบคุมตัวไว้ โดยยังไม่แจ้งข้อหา แต่อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะกันไว้เป็นพยาน อย่างไรก็ตามตำรวจไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดของแรงจูงใจในการโจมตีมัสยิดของขาวมุสลิมในครั้งนี้ นอกจากนี้ยังไม่ชัดเจนว่ามีคนร้ายรายอื่นร่วมสังหารด้วยหรือไม่
มาร์ติน แพลนต์(Martin Plante) ผู้บังคับการ ตำรวจม้ารักษาพระองค์แห่งแคนาดา (Royal Canadian Mounted Police)ที่รับผิดชอบในคดีสอบสวนกลางของแคนาดา บอกว่า ขณะนี้ระดับการสืบสวนยังคงอยู่ในระดับภายในประเทศ และทางเจ้าหน้าที่จะเร่งรวบรวมข้อมูลและพยานหลักฐานเพื่อคลี่คลายคดี
ขณะที่นายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา กล่าวในรัฐสภาว่า น่าเศร้าเหยื่อที่เสียชีวิตตกเป็นเป้าหมายสังหารเพียงเพราะความเชื่อทางศาสนาของพวกเขา นอกจากนี้ยังบอกไปถึงชาวมุสลิมในแคนาดาว่า ชาวแคนาดาจะอยู่เคียงข้างชาวมุสลิม
'เราต่างเห็นคุณค่าในตัวของคุณ ที่ได้ร่วมสร้างคุณค่าความมั่งคั่งของประเทศนี้ร่วมกันมาหลากหลายหนทาง และที่นี่คือบ้านของพวกคุณ' จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา กล่าว
นอกจากนี้มีชาวแคนาดาในเมืองคลิเบกจำนวนมากเดินทางไปร่วมจุดเทียนไว้อาลัยบริเวณมัสยิดที่เกิดเหตุตลอดทั้งวันที่ผ่านมา
ขณะเดียวกันมีรายงานว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้โทรศัพท์ต่อสายตรงไปยังนายกรัฐมนตรีแคนาดาเพื่อแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง และเสนอความช่วยเหลือหากทางการแคนาดาต้องการ
นอกจากนี้นายฌอน สไปเซอร์ โฆษกทำเนียบขาว แถลงว่า เหตุการณ์ในควิเบกของแคนาดา ช่วยย้ำเตือนความทรงจำอันน่ากลัวถึงเหตุผลที่สหรัฐฯจำเป็นต้องคงความระมัดระวัง และเป็นเหตุผลว่าทำไมประธานาธิบดีทรัมป์ จึงจำเป็นต้องดำเนินการในเชิงรุกมากกว่าที่จะรอให้ส่งผลต่อความปลอดภัยและการรักษาความมั่นคงของชาติ