ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ผลลงประชามติเบื้องต้นชี้ 'ปูติน' มีสิทธิครองอำนาจไปอีก 16 ปี


Russian President Vladimir Putin shows his passport to a member of an election commission as he arrives to take part in voting at a polling station in Moscow, Russia, July 1, 2020.
Russian President Vladimir Putin shows his passport to a member of an election commission as he arrives to take part in voting at a polling station in Moscow, Russia, July 1, 2020.

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ผลการลงคะแนนประชามติเบื้องต้นของรัสเซียเมื่อวันพุธ (1 ก.ค.) เห็นชอบให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีประเด็นตั้งแต่การเพิ่มเงินบำนาญไปจนถึงการเปิดทางให้ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน อยู่ในอำนาจต่อไปได้อีก 16 ปี

โดยหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว จะทำให้ประธานาธิบดีปูตินสามารถอยู่ในวาระต่อได้อีก 2 สมัย สมัยละ 6 ปี หลังจากที่วาระปัจจุบันของเขาจะสิ้นสุดลงในปี 2567 ซึ่งเท่ากับว่าเขาจะอยู่ในอำนาจได้ถึงปี 2579

คณะกรรมการการเลือกตั้งกลางของรัสเซียเปิดเผยผลการลงคะแนนส่วนหนึ่งที่นับก่อนเวลาปิดหีบ 5 ชั่วโมง โดยมากกว่า 70% ของผู้ลงคะแนนสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และอีก 29% ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข ผลดังกล่าวคิดเป็น 2.68% จากจำนวนคะแนนเสียงทั้งหมด

คณะกรรมการยังระบุด้วยว่า มีผู้มาลงคะแนนเสียงเกือบ 60% จากผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนทั้งหมดแล้ว ทั้งนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะได้รับการรับรองหากมีผู้มาลงคะแนนเสียงอย่างต่ำ 50% และได้รับคะแนนเสียงข้างมาก

Russia, Saint Petersburg, Members of a local electoral commission count ballots at a polling station following a seven-day nationwide vote on constitutional reforms
Russia, Saint Petersburg, Members of a local electoral commission count ballots at a polling station following a seven-day nationwide vote on constitutional reforms

ทั้งนี้ รัฐบาลรัสเซียพยายามใช้วิธีต่าง ๆ เชิญชวนให้ประชาชนไปลงประชามติ ทั้งให้สิทธิ์จับฉลากรางวัลโดยผู้ถูกรางวัลอาจได้รางวัลเป็นแฟลตที่อยู่อาศัย ทั้งการทำโฆษณาถึงจุดเด่นอื่น ๆ ของ "แพคเกจปฏิรูป” ผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการปกป้องเงินบำนาญ และการห้ามให้มีการสมรสระหว่างเพศเดียวกัน

นอกจากนี้ ประธานาธิบดีปูตินยังอนุมัติให้มีการโอนเงินจำนวน 10,000 รูเบิล หรือราว 4,380 บาท แก่ผู้ที่มีบุตร ในขณะที่ประชาชนกำลังเดินทางไปลงคะแนนในวันพุธซึ่งเป็นวันสุดท้ายของวันลงประชามติทั้งหมด 7 วัน เพื่อป้องกันไม่ให้หน่วยลงคะแนนแออัด และอาจกระตุ้นการระบาดของไวรัสโควิด-19

ผู้ลงคะแนนสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีความเห็นต่างกัน ทั้งผู้ที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงจริงจัง ไปจนถึงผู้ที่ไม่ได้อ่านรายละเอียดของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยผู้ลงคะแนนที่ใช้นามว่า ลยุดมิลา กล่าวว่า “ยังไงเขาก็ตัดสินใจมาให้เราอยู่แล้ว”

ผู้ไม่เห็นด้วยต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีตั้งแต่พรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคคอมมิวนิสต์ที่เห็นว่า นโยบายของปูตินส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของรัสเซีย ไปจนถึงนักกิจกรรมที่แม้จะไม่สามารถจัดการประท้วงขนาดใหญ่ได้เพราะการระบาดของไวรัส แต่ก็จัดกิจกรรมออนไลน์ จัดการเสวนาโดยรักษาระยะห่างทางสังคม ไปจนถึงรวมกลุ่มขนาดย่อมแทน

โดยเมื่อวันพุธ มีนักกิจกรรมกลุ่มหนึ่งนอนต่อตัวกันเป็นตัวเลข 2036 ซึ่งหมายถึงปีที่ปูตินสามารถครองอำนาจอยู่ได้ ที่จัตุรัสแดงในกรุงมอสโก ก่อนที่จะถูกตำรวจจับกุม

Putin referendum
Putin referendum

สำหรับตัวประธานาธิบดีวัย 67 ปีผู้นี้ เดินทางไปลงคะแนนเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. โดยเขากล่าวว่ายังไม่ได้ตัดสินใจถึงเส้นทางการเมืองในอนาคต

มีผู้วิจารณ์ว่าปูตินจะลงเป็นประธานาธิบดีต่อไปแน่นอน แต่นักวิเคราะห์อีกส่วนก็เห็นว่า เขาเปิดทางเลือกให้ตัวเองหลายทางโดยที่ไม่ให้ตัวเองมีอำนาจลดลง หากมีว่าที่ผู้นำคนใหม่จ่อรอรับตำแหน่งต่อจากเขา

ทั้งนี้ ผลสำรวจจากศูนย์โพลเลวาดา ระบุว่า คะแนนนิยมของประธานาธิบดีปูตินอยู่ที่ 60% ซึ่งถือว่ายังสูง แม้จะลดจากช่วงสูงสุดที่เคยอยู่ที่เกือบ 90% ก็ตาม

XS
SM
MD
LG