“เหตุการณ์เกิดขึ้นคืนวันเสาร์ที่ 30 พฤษภาคม ตอนกลางคืน เราปิดร้านราวๆ 3 ทุ่ม ออกจากร้านประมาณ 4 ทุ่มครึ่ง เหตุการณ์คงเกิดขึ้นในคืนนั้น พอตื่นเช้ามาที่ร้าน เราก็เห็นแล้วว่ากระจกแตก 3 บาน และมีตำรวจมารอสอบถามที่หน้าร้านแล้ว”
ศรายุทธ โกมล เจ้าของร้านอาหารซูชิ อาโออิ (Sushi Aoi) ในกรุงวอชิงตัน เล่าถึงเหตุการณ์ในช่วงเกิดความวุ่นวายระหว่างการชุมนุมประท้วงเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จนทำให้ร้านของเขาที่อยู่ห่างจากทำเนียบขาว ศูนย์กลางการชุมนมเพียง 3 ช่วงตึก ได้รับความเสียหายจากการถูกกลุ่มผู้ฉวยโอกาสบุกทำลายทรัพย์สิน ทุบหน้าต่างกระจกเสียหาย
“เราก็ทำอะไรไม่ได้อยู่ดี เราไม่ได้อยู่ในร้าน ถึงอยู่ในร้าน เราก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะว่าเราจะไปสู้อะไรกับเขา ก็อะไรมันจะเกิดก็ต้องเกิด แต่ยังดีที่ไม่มีใครเจ็บ ยังดีที่ไม่มีพนักงานอยู่ในร้าน เรากลับบ้านกันหมดแล้ว คือถามว่าเดือดร้อนไหมก็ต้องเดือดร้อนเพราะยังไงเราก็ต้องซ่อมแซม แต่ยังดีใจที่ไม่มีใครเป็นอะไร”
ย่านธุรกิจกรุงวอชิงตันถูกทุบกระจก ปล้นสดมภ์
เช่นเดียวกับอาคาร ร้านค้า หลายแห่งที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงทำเนียบขาวต่างตกเป็นเป้าการโจมตี และก่อความวุ่นวาย ทำลายทรัพย์สิน และปล้มสดมภ์จากกลุ่มฉวยโอกาสที่ร่วมผสมโรงในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ จนหลายร้านต้องใช้วิธีนำแผ่นกระดานขนาดใหญ่มาปิดกั้นกระจกรอบๆอาคารเพื่อรักษาความปลอดภัยเพื่อป้องกันและรักษาความปลอดภัย
“อาคารรอบๆ นี้โดนหมดน่ะ แถวโน้นปิดหมดเลย ฝั่งตรงข้ามเขาก็โดนหมด ร้านที่ขายของแบรนด์เนม ต่างๆฝั่งโน้นโดนทุบกระจกหมด ไม่มีใครไม่โดน มีบางร้านโดนเอาของไป แต่ทางร้านเราไม่มีอะไรเสียไป เพราะว่า คือเจตนาคือทุบให้สะใจแล้วไป ส่วนที่จะมีเสียหายก็มีทีวีพังไปเครื่องนึง”
ศราวุธ บอกกับ 'วีโอเอ ภาคภาษาไทย' ด้วยว่า ผู้ประกอบการธุรกิจในกรุงวอชิงตัน กำลังจะมีโอกาสได้เปิดรับลูกค้าบางส่วนในสัปดาห์นี้ หลังทางการมีมาตาการผ่อนคลายมากขึ้นในการระบาดโควิด19 แต่เหตุการณ์ความไม่สงบจากการชุมนุมที่บานปลายดูเหมือนทำให้หลายอย่างต้องแย่ลง
“เพิ่งกำลังเปิด patio (ที่นั่งด้านนอกร้าน) ได้ 3 วัน คนก็เริ่มมา เริ่มโทรมาจองบ้าง สอบถามข้อมูลเปิดร้าน ปิดกี่โมง อย่างวันนี้ก็มีคนโทรมา แต่เราก็ต้องเปิดเร็ว (เพราะคำสั่งเคอร์ฟิว) ที่เราเปิดเพราะว่าลูกค้า เราไม่อยากให้ลูกค้าหายไป เพราะวันใดวันหนึ่งเราก็ต้องกลับมาเปิดอยู่ดี” เจ้าของร้านอาหารชาวไทย กล่าว
ธุรกิจอาจเสียหายแต่ไม่เท่ากับเสียใจ
ขณะที่ ชาตรี เกียรติรุ่งฤทธิ์ เจ้าของร้านหาดไทย ร้านอาหารไทยที่ตั้งอยู่ในย่านเดียวกัน บอกว่า แม้ในภาคธุรกิจจะได้รับผลกระทบหรือเสียหาย แต่ก็รู้สึกเสียใจมากกว่าที่มีกลุ่มผู้ไม่หวังดีฉกฉวยโอกาสก่อเหตุร้ายบนเจตนารมณ์ที่ดีของการชุมนุม
“จะว่าหนักขึ้นไหม (จากช่วงโควิด-19) มันก็ไม่หรอกครับ เพราะเราก็สูญเสียธุรกิจมาเยอะพอ เพียงแต่มันไม่สงบ มันก็กระทบกระเทือนมากขึ้นนิดนึง เสียใจมากกว่าครับที่เกิดเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะผมคิดว่าคนส่วนใหญ่แล้ว ออกมาประท้วงด้วยความสงบ และต้องการสร้างภาพในสิ่งที่ดีมากกว่า เสียดายที่คนส่วนน้อย และพวกฉวยโอกาส มาตักตวงผลประโยชน์สำหรับคนที่เดือดร้อนช่วงนี้”
ความปลอดภัยมาก่อน
ประธาน ปานประยูร ผู้จัดการร้านหาดไทย บอกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ต้องระมัดระวังความปลอดภัยมาก่อน แม้คนส่วนใหญ่ที่มาร่วมชุมนุมจะมีเจตนาที่ดี แต่ก็มีบางคนบางกลุ่มที่แฝงตัวเข้ามาสร้างความวุ่นวายทำให้สถานการณ์ต่างๆ ดูเลวร้ายลงไป
”คนที่ออกมาประท้วงด้วยความเป็นธรรม หรือเรียกร้องความยุติธรรม ผมเห็นด้วยมากๆเลยนะ แต่พวกที่ออกมาฉวยโอกาสเพื่อทำลายข้าวของ ทรัพย์สินต่างๆของห้างร้าน หรือร้านอาหารต่างๆ มันแย่มากๆ และก็กระทบโดยตรง ความปลอดภัยครับ อย่างวันที่มาตรการเคอร์ฟิวของกรุงวอชิงตัน เริ่มต้นตั้งแต่ 19.00 น. ไปจนถึง 6.00 น. เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 2 วัน ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อเราโดยตรง เพราะว่าเราจะหายชั่วโมงบริการลูกค้า ส่งอาหารเดริเวอร์รีไปอีก 3 ชั่วโมง”
ทางการท้องถิ่นได้ ประกาศมาตรการเคอร์ฟิวรอบใหม่ โดยยืดเวลาตั้งแต่ 19.00 น. ถึง 6 นาฬิกาตั้งแต่วันจันทร์ ที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อยกระดับการควบคุมสถานการณ์การชุมนุม โดยรายงานข่าวระบุว่า หลังการบังคับใช้มาตรการห้ามออกนอกเคหะสถานในคืนแรกมีกลุ่มผู้ชุมนุมควบคุมตัวไปกว่า 300 คน ซึ่งเป็นจำนวนมากกว่าช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาถึง 3 เท่า ที่ถูกควบคุมจตัวแล้วก่อนหน้านี้ราว 100 ราย
การชุมนุมเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับนายจอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวสี วัย 46 ปี ที่เสียชีวิตขณะถูกตำรวจจับกุมที่นครมินนีแอโปลิส รัฐมินนิโซตา กลายเป็นเหตุลุกลามไปในหลายเมืองทั่วสหรัฐฯ และถือเป็นเหตุการณ์ประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดที่เกิดขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศในรอบครึ่งศตวรรษ นับตั้งแต่มีการประท้วงให้ยุติสงครามเวียดนามเมื่อราว 50 ปีก่อน