คลิปเพลงบน YouTube คลิปหนึ่งจากออสเตรเลีย เล่าเรื่องราวพ่อลูกอ่อนที่ชื่อ Teg Sethi ที่ผิดหวังกับการซื้อรถ Jeep รุ่น Grand Cherokee ราคา 60,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย เขาไม่พอใจเพราะเมื่อซื้อรถที่ตนใฝ่ฝันอยากได้มานาน ปรากฏว่า Grand Cherokee ของเขาเจอปัญหาจุกจิก 15 จุด ต้องนำไปซ่อมครั้งแล้วครั้งเล่า
คงจะเป็นเพราะเนื้อเพลงที่สนุกและภาพขำๆ ทำให้ คลิป YouTube นี้ มีคนดูกว่า 2 ล้านคน หลังจากที่ Teg Sethi โพสต์คลิปนี้เมื่อเดือนที่แล้ว เพลงแร็พที่ชื่อว่า I Made a Mistake I Bought a Lemon Jeep นี้เป็นตัวอย่างของการเผยแพร่ความผิดหวังในสินค้าบนโลกโซเชี่ยลมีเดียที่กระทบความน่าเชื่อถือของบริษัทผู้ผลิตได้อย่างมาก
ผู้สันทัดกรณีกล่าวว่าบริษัทที่ปรับตัวทันและทุ่มเทการสอดส่องเสียงของผู้บริโภคบนโซเชี่ยลมีเดียได้อย่างดีจะได้เปรียบคู่แข่งที่ปรับตัวไม่ทัน
โฆษกของบริษัท Chrysler ผู้ผลิตรถในเครือ Jeep กล่าวว่า ได้ดูแล Teg Sethi ผู้ซื้อที่ไม่พอใจ Jeep Grand Cherokee และแก้ปัญหาให้เรียบร้อยแล้ว ทางบริษัทกล่าวว่า Chrysler ใส่ใจความคิดเห็นของผู้ใช้ และเปิดกว้างต่อการพูดคุยกันเพื่อการพัฒนาอย่างสร้างสรรค์
ส่วน Teg Sethi บอกกว่าการตกลงยอมความกับ Chrysler ทำให้เขาอยู่ในเงื่อนไขที่ว่าจะพูดอะไรต่อไปไม่ได้มาก อย่างไรก็ตาม เขาไม่ถูกผูกมัดที่จะรณรงค์เพื่อให้มีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคที่เข้มข้นขึ้นในอนาคต
ปัจจุบันผู้บริโภคจำนวนมากศึกษาความเห็นต่อสินค้าที่ตนสนใจทางอินเทอร์เน็ตด้วยตนเอง
Chris Moloney ซีอีโอของบริษัท Gremlin ที่อยู่ในธุรกิจ digital marketing และเทคโนโลยีสื่อสังคมออนไลน์บอกว่า การเผยแพร่ความเห็นการใช้สินค้า หรือ product review ออนไลน์กำลังเป็นรูปแบบการซื้อสินค้าอย่างที่เราเคยรู้จักกัน
ด้านเจ้าของกิจการอย่าง Alexander Ruggie ที่ให้บริการซ่อมความเสียหายจากระบบน้ำตามบ้าน บอกว่าธุรกิจ 911 Restoration ของเขา ใช้โซเชี่ยลมีเดียช่วยส่งเสริมระบบดูแลลูกค้าด้วย
ขณะเดียวกันในสหรัฐฯ เกิดกลุ่ม Better Business Bureau ที่ทำหน้าที่สอดส่องว่าการเผยแพร่ข้อมูลออนไลน์ของผู้ใช้น่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด
(รายงานโดยสำนักข่าวต่างประเทศและห้องข่าววีโอเอ / เรียบเรียงโดย รัตพล อ่อนสนิท)