การศึกษาชิ้นใหม่จากมหาวิทยาลัย McMaster ในแคนาดาชี้ว่า “แบคทีเรียที่มีประโยชน์” หรือ Probiotics นอกจากจะส่งผลดีต่อการย่อยอาหาร ช่วยเรื่องระบบขับถ่ายของมนุษย์แล้ว ยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพจิต และอาจลดอาการซึมเศร้าได้ด้วย
นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย McMaster ในออนตาริโอ ในประเทศแคนาดา พบว่าแบคทีเรียที่มีประโยชน์เหล่านี้สามารถส่งผลต่อการสื่อสารของระบบในร่างกายไปสู่สมอง และช่วยให้ผู้ที่มีความสภาพจิตใจที่หดหู่มีความรู้สึกที่ดีขึ้นได้
นักวิจัย Presmysl Berick กล่าวว่า ประมาณร้อยละ 40 ถึง 90 ของผู้ที่ระบบย่อยอาหารมีปัญหา ยังป่วยด้านอารมณ์ด้วย กล่าวคือบางคนมักรู้สึกกระวนกระวายและหดหู่
เขากล่าวว่า เมื่อผู้ป่วยที่ปวดท้องได้รับยา “โพรไบโอติกส์” ระดับความไม่สบายใจและอาการซึมเศร้าลดลงด้วย
คณะทำงานของเขาศึกษากลุ่มตัวอย่างผู้ป่วย 44 รายที่ระบบการย่อยอาหารมีปัญหา ซึ่งมีอาการกระวนกระวายและหดหู่ในระดับปานกลาง
ครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้รับยา“โพรไบโอติกส์” ที่ชื่อ “Bifidobacterium longum” และที่เหลือรับยาที่ไม่มีผลต่อร่างกาย หรือยาหลอก
จากนั้นนักวิจัยเก็บศึกษาผลการเปลี่ยนแปลงเป็นเวลา 10 สัปดาห์
ในตอนต้นนักวิจัยวัดระดับความรู้สึกซึมเศร้าและกระวนกระวายใจของคนไข้ด้วย นอกจากนั้นมีการเก็บข้อมูลภาพปฏิกิริยาของสมองในสภาพจิตใจที่สดใสและตอนที่หดหู่ด้วย
ผลปรากฏว่าในสัปดาห์ที่ 6 ร้อยละ 64 ของคนไข้ที่มีปัญหาปวดท้องและรับยา “Bifidobacterium longum” มีระดับความหดหู่ใจลดลง เทียบกับร้อยละ 32 ในกลุ่มที่รับยาหลอก
และการศึกษาสภาพการเปลี่ยนแปลงของปฏิกิริยาในสมองชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในบริเวณของสมอง ที่ทำงานด้านควบคุมอารมณ์ในกลุ่มคนไข้ที่รู้สึกดีขึ้น
อาจารย์ Berick กล่าวว่า "การวิจัยเรื่องนี้ควรขยายตัวอย่างการศึกษาเพื่อยืนยันข้อสรุปที่ว่ายา “โพรไบโอติกส์” ช่วยปรับอารมณ์ของผู้ป่วยให้ดีขึ้นจากอาการซึมเศร้าและกระวนกระวายใจ"
เขากล่าวว่าผลการศึกษาล่าสุดชี้ให้เห็นถึงอนาคตที่สดใส เรื่องการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตและความเจ็บป่วยในระบบย่อยอาหาร
สาร “Bifidobacterium longum” ถูกสกัดและทดสอบโดยนักวิทยาศาสตร์ของบริษัท Nestle ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนด้านการเงินต่อการศึกษาชิ้นนี้ และสารดังกล่าวยังไม่มีจำหน่ายตามท้องตลาดในขณะนี้
รายงานชิ้นนี้ถูกตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Gastroenterology
(รายงานโดย Jessica Berman / รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียง)