ทารกที่เสียชีวิตจากอาการแทรกซ้อนจากการคลอดก่อนกำหนดส่วนใหญ่จะเสียชีวิตในช่วง 28 วันแรกหลังคลอด แต่อย่างน้อย 125,000 คนเสียชีวิตหลังจากอายุครบ 1 เดือนจนถึง 5 ขวบ
ด็อกเตอร์ Andres de Francisco รักษาการผู้อำนวยการบริหารแห่งโครงการ Partnership for Maternal Newborn and Child Health ในนครเจนนีวากล่าวถึงเรื่องนี้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จำนวนการเสียชีวิตของเด็กจากอาการแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับการคลอดก่อนกำหนดสูงขึ้น สาเหตุเป็นเพราะไม่มีมาตรการแทรกแซงที่สำคัญเพื่อป้องกันการคลอดก่อนกำหนดและชุมชนยังขาดแคลนแนวทางการดูแลเด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนด
ด็อกเตอร์ de Francisco กล่าวว่ามีเด็กจำนวนมากเสียชีวิตจากอาการแทรกซ้อนเพราะคลอดก่อนกำหนดในหลายประเทศในแอฟริกา อาทิ ไนจีเรีย หรือในเอเชีย เช่น อินเดียและปากีสถาน แต่ปัญหานี้ไม่จำกัดอยู่แค่ในประเทศกำลังพัฒนาเท่านั้นแต่เกิดขึ้นในประเทศพัฒนาแล้วเช่นกัน
ทีมนักวิจัยที่ศึกษาปัญหานี้เตือนว่าการระบาดของเชื้ออีโบล่าในแอฟริกาตะวันตกเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนแก่เด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนดในประเทศที่มีการระบาดของโรคนี้
ด็อกเตอร์ de Francisco กล่าวว่าอัตราการเสียชีวิตของเด็กอายุน้อยกว่า 5 ขวบได้ลดลงอย่างมากโดยลดลงไปเกือบ 3.9 เปอร์เซ็นต์ต่อปี เป็นผลสืบเนื่องจากการแทรกแซงทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นการฉีดวัคซีน การนอนในมุ้ง การใช้ยาปฏิชีวนะ การใช้ยาบำบัดมาลาเรียและยาต้านไวรัสเอชไอวี นี่ช่วยลดการเสียชีวิตของเด็กจากโรคติดต่อต่างๆ โรคปอดบวม ท้องร่วงรุนแรง มาลาเรียและโรคอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม ด็อกเตอร์ de Francisco ชี้ว่าอัตราการเสียชีวิตของทารกที่คลอดก่อนกำหนดลดลงมาในอัตราที่ต่ำกว่าอย่างมาก น่าจะเป็นผลมาจากยังขาดมาตรการแทรกแซงที่เพียงพอและยังไม่ชัดเจนว่าอะไรเป็นมาตรการแทรกแซงที่ได้ผลดีที่สุดนอกจากการบำบัดอาการเบาหวานและอาหารความดันโลหิตสูงในหญิงตั้งครรภ์
ด็อกเตอร์ de Francisco กล่าวว่าจำเป็นต้องมีการศึกษาเชิงลึกที่เจาะจงว่าอะไรเป็นสาเหตุของการคลอดก่อนกำหนดเพราะถ้ารู้สาเหตุ ก็จะสามารถหาทางป้องกันการเสียชีวิตของทารกที่คลอดก่อนกำหนดได้
ขณะนี้ การวิจัยสาเหตุการคลอดก่อนกำหนดมูลค่า 250 ล้านดอลล่าร์กำลังเริ่มต้นขึ้นในสหรัฐ โดยมีหน่วยงานการวิจัยด้านการคลอดก่อนกำหนดหลักๆ สี่แห่งมีส่วนร่วมด้วยและผู้เชี่ยวชาญคาดว่าภายในอีก 5 ปี ข้างหน้า ผลการวิจัยนี้จะมีส่วนช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของทารกที่คลอดก่อนกำหนดได้