นักวิเคราะห์การเมืองอเมริกันกล่าวว่า เป็นเรื่องยากที่จะคาดเดาผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในคืนวันที่ 3 พฤศจิกายน เพราะปีนี้ประชาชนจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ใช้สิทธิ์ล่วงหน้ากัน ท่ามกลางการระบาดของโคโรนาไวรัส
แต่ละรัฐมีกฎที่เเตกต่างกัน เรื่องกระบวนการเเละเวลาเริ่มนับบัตรเลือกตั้งล่วงหน้า ประเด็นดังกล่าวอาจทำให้การนับคะเเนนใช้เวลาหลายวัน หรือหลายสัปดาห์กว่าจะเสร็จสิ้น
วิลเลี่ยม กัลสตัน ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองแห่งสถาบัน Brookings Institution กล่าวว่า "ฝันร้าย" ที่อาจเกิดขึ้น อาจมาจาก การโต้เถียงถึงความถูกต้องของการเลือกตั้ง จนทำให้เกิดความโกลาหลต่ออนาคตทางการเมือง
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แสดงความกังขาหลายครั้ง ว่าการโหวตล่วงหน้าจำนวนมากอาจทำให้เกิดการโกงการเลือกตั้ง แต่ความกังวลต่อกรณีดังกล่าวอาจลดลงถ้าคะเเนนเลือกตั้งออกมาค่อนข้างชัดเจนในคืนวันนั้น
แม้ว่า อดีตรองประธานาธิบดีโจ ไบเดน คู่เเข่งของประธานาธิบดีทรัมป์ในการเลือกตั้งครั้งนี้ จะได้เปรียบในผลสำรวจคะเเนนนิยมทั่วประเทศราว 9-10 เปอร์เซ็นต์ แต่ผู้ชนะการเลือกตั้งไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ที่ได้คะเเนนดิบของประชากรโดยรวมเหนือคู่แข่ง
ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะ ผู้ชนะต้องได้คะเเนนจากตัวเเทนคณะผู้เลือกตั้งหรือ Electoral College มากกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง
ในการเก็บคะเเนนจากคณะผู้เลือกตั้งในแต่ละรัฐ ผู้สมัครต้องได้คะเเนนจากประชาชนในรัฐนั้นๆ มากกว่าคู่แข่ง ซึ่งแต่จะรัฐมีการจัดสรรจำนวนตัวแทน Electoral College ต่างกัน ตามจำนวนประชากร
ตัวแทน Electoral College ของรัฐ แม้จะมีหลายคน แต่จะลงคะเเนนสนับสนุนไปในทางเดียวกันทั้งหมด ให้กับผู้ที่ได้คะเเนนโหวตสูงสุดจากประชากรของรัฐ อย่างไรก็ตามมีสองรัฐ ที่ตัวแทน Electoral College ไม่จำเป็นต้องโหวตไปในทางเดียวกันคือในรัฐเมนและเนบราสกา
เมื่อการเลือกตั้งประธานาธิบดี 4 ปีก่อน ทรัมป์ได้คะเเนนจาก Electoral College มากกว่าฮิลลารี คลินตัน แม้ว่าเธอได้คะเเนนรวมจากประชากรทั่วประเทศมากกว่าทรัมป์
ตามกำหนด คณะผู้เลือกตั้งหรือ Electoral College จะประชุมกันวันที่ 14 ธันวาคม เพื่อลงคะเเนนอย่างเป็นทางการว่าใครจะเป็นประธานาธิบดีคนต่อไป ผู้ชนะการเลือกตั้งต้องได้คะเเนนจากผู้แทน Electoral College จำนวน อย่างน้อย 270 คนจาก Electoral College ที่มีตัวแทนทั้งหมด 538
การนับคะเเนนอย่างเป็นทางการจะเกิดขึ้นต่อหน้าที่ประชุมสภาผู้แทนฯ และวุฒิสภา วันที่ 6 มกราคม
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า แม้อาจจะมีหลายรัฐที่ใช้เวลานับคะเเนนต่ออีกหลายวัน หลังการเลือกตั้ง แต่ก็จะมีหลายรัฐที่ทราบผลเกือบสมบูรณ์ในคืนวันที่ 3 พฤศจิกายน หรือเช้าวันถัดไปเช่นกัน
ศาสตราจารย์ ริชาร์ด ไพลด์ส แห่ง New York University กล่าวว่าต้องจับตามองผลการลงคะแนนจากรัฐฟลอริดา นอร์ธแคโรไลนา และแอิโซนา อย่างใกล้ชิด สามรัฐนี้ซึ่งทรัมป์และไบเดนได้รับความนิยมสูสีกันในโพลล์ มีคะแนนจาก Electoral College 29, 15 และ 11 ตามลำดับ
เขากล่าวว่าถ้าทรัมป์ แพ้ในรัฐฟลอริดา ผู้ติดตามผลการเลือกตั้งอาจทราบได้ว่าใครจะได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนต่อไป โดยไม่ต้องรอคะเเนนที่เสร็จสมบูรณ์จากมิชิแกน เพนซิลเวเนียและวิสคอนซิน เพราะในกรณีดังกล่าวเขากล่าวว่าโจ ไบเดน มีความเป็นไปได้สูงว่าจะชนะเลือกตั้งอย่างชัดเจน
แต่ถ้าคะเเนนในฟลอริดายังไม่รู้ผลชี้ขาด เขากล่าวว่าการต่อสู้อาจยืดเยื้อและตึงเครียด
ทั้งนี้มีวันสำคัญในกระบวนการส่งคะเเนนเลือกตั้ง อีกวันหนึ่งคือ วันที่ 8 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันที่รัฐต่างๆ ถูกคาดหมายให้รับรองผลการเลือกตั้งและส่งผลคะเเนนตัวแทน Electoral College ในเเต่ละรัฐไปยังหน่วยงาน Archivist of the United States ที่ทำหน้าที่จัดเก็บเอกสารของรัฐ
แต่หากว่าไม่สามารถทำได้ตามกำหนด ซึ่งอาจเป็นผลของการฟ้องร้องหรือการนับคะเเนนที่ยังไม่เสร็จ กฎหมายเปิดทางให้สภานิติบัญญัติของแต่ละรัฐ เป็นผู้ตัดสินใจในเรื่องนี้ แม้ว่าอาจจะยังไม่ทราบผลการนับคะเเนนอย่างสมบูรณ์ได้
และหากว่ารัฐใด มีผู้ว่าการรัฐอยู่คนละพรรคการเมืองกับพรรคที่คุมเสียงข้างมากในสภาท้องถิ่น และทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้ อาจมีการส่งผลคะเเนนโหวตของ Electoral College แตกต่างกันสองชุด ผลที่ตามมาคือเรื่องจะถูกส่งไปยังสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา แต่หากว่ายังไม่สามารถหาข้อยุติได้ จะยึดตามเอกสารที่ถูกลงนามโดยผู้ว่าการรัฐ
เหตุการณ์ที่ยากจะเกิดขึ้น แต่เป็นไปได้อีกประการหนึ่งคือ การที่คะเเนนโหวตของ Electoral College ของทรัมป์และไบเดน เท่ากันที่ 269 คะเเนน ในกรณีนี้ ผู้ที่กำชัยในจำนวนรัฐที่มากกว่า จะเป็นประธานาธิบดีคนต่อไป
คำถามอีกข้อหนึ่งคือ ผู้ลงคะเเนน Electoral College สามารถบิดพลิ้ว ไม่ทำตามผลการเลือกตั้งของประชาชนในรัฐของตนได้หรือไม่ กรณีดังกล่าวอาจเกิดขึ้นจากผลคะเเนนที่ใกล้เคียงกันมากๆ จนเกิดความลังเลใจ แต่ถึงจะเป็นเช่นนั้นมีกฎหมายที่ระบุว่าผู้ลงคะเเนน Electoral College ต้องทำตามผลการเลือกตั้งจากรัฐของตน
ศาสตราจารย์ ริชาร์ด ไพลด์ส ยำ้ว่า กรณีพิเศษเหล่านี้ยากที่จะเกิด และเป็นไปได้ว่าในคืนวันเลือกตั้งน่าจะทราบในระดับหนึ่งแล้วว่าใครจะเป็นผู้นำ สหรัฐฯคนต่อไป