หนึ่งในเป้าหมาย 17 ข้อตามเป้าหมายของพัฒนาอย่างยั่งยืนองค์การสหประชาชาติที่ประกาศใช้ในปี ค.ศ. 2015 (Sustainable Development Goals) มุ่งที่จะกำจัดความยากจนมากที่สุดหรือความยากจนสุดโต่งให้หมดไปภายในปี ค.ศ. 2030 หรือภายในอีกเกือบ 12 ปีข้างหน้า
บรรดาผู้เชี่ยวชาญมักวัดระดับความยากจนด้วยข้อมูลของการสำรวจสำมะโนประชากร เเต่การสำรวจเหล่านี้เสียค่าใช้จ่ายสูงเเละใช้เวลานานเเละใช้บุคลากรจำนวนมาก ประเทศต่างๆ ทั่วโลกมักทำการสำรวจประชากรนานๆ ครั้งเท่านั้นเพราะไม่สามารถทำได้เป็นประจำทุกปี
ในอีกด้านหนึ่ง ดาวเทียมสามารถถ่ายภาพพื้นที่ต่างๆทั่วโลกได้ทุกๆสองถึงสามวัน โดยเป็นภาพถ่ายที่มีความละเอียดของภาพสูง ภาพถ่ายทางดาวเทียมมีคุณภาพดีขึ้นตลอดเวลาเเละมีราคาถูกลงเนื่องจากมีจำนวนดาวเทียมของรัฐบาลและของบริษัทเอกชนถูกส่งขึ้นไปทำงานกันมากขึ้น
ทีมนักวิจัยได้ใช้ภาพถ่ายทางดาวเทียมที่เเสดงระดับความสว่างมากที่สุดของแสงไฟในตอนกลางคืนในการประเมินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ในขณะที่มีนักวิจัยอีกจำนวนหนึ่งที่ใช้ภาพถ่ายทางดาวเทียมในการระบุหมูบ้านที่ร่ำร่วยที่สุดและที่ยากจนที่สุด
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มนักวิจัยอีกกลุ่มหนึ่งที่แยกว่าเขตที่อยู่ใดร่ำรวยหรือยากจน โดยใช้ภาพถ่ายของความหนาเเน่นของตึกและอาคาร ตลอดจนพืชปกคลุมดิน
ผลการศึกษาชิ้นใหม่ล่าสุดใช้วิธีการศึกษาข้อมูลที่ให้รายละเอียด มากที่สุด โดยสามารถระบุได้ว่าภายในหนึ่งหมู่บ้าน โดยสามารถระบุว่าครัวเรือนใดยากจนและครัวเรือนใดร่ำรวย ซึ่งมีความแม่นยำถึงร้อยละ 62
ผลการศึกษานี้เน้นที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในเขตชนบทของประเทศเคนยา ชื่อ Sauri ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการหมู่บ้านมิลเลเนี่ยม (Millennium Villages Project) ซึ่งเป็นโครงการทดลองด้านการศึกษาความยากจนขนาดใหญ่โครงการหนึ่ง มีการจัดเก็บข้อมูลในรายละเอียดเกี่ยวกับรายได้เเละทรัพย์สินของครัวเรือนในปี ค.ศ. 2005
และในภาพถ่ายทางดาวเทียมของหมู่บ้านเเห่งนี้ ทีมนักวิจัยได้วัดขนาดของบ้านแต่ละหลังเเละศึกษาที่กินทำกินที่อยู่รอบๆ และไม่แปลกใจที่ บ้านที่มีขนาดเล็กกว่ามีคนอาศัยที่ยากจนกว่า และที่น่าสนใจ ทีมนักวิจัยยังพบด้วยว่าครัวเรือนที่ยากจนมักมีที่ดินทำกินที่ว่างเปล่ามากกว่าในเดือนกันยายน ในพื้นที่เขตนี้ของเคนยา ปกติในช่วงเดือนนี้ของปี เกษตรกรจะเตรียมพื้นที่ดินในการปลูกพืชรอบที่สองของปี
แกรี่ วัทมอค (Gary Watmough) นักภูมิศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเอดินเบอเรอห์ (University of Edinburgh) เเละหัวหน้าผู้ร่างรายงานผลการวิจัยกล่าวว่าโดยทั่วไปแล้ว ครัวเรือนที่ยากจนกว่าจะปลูกพืชรอบสองในช่วงปลายฤดูการเพาะปลูกเพราะมีความจำ้เป็นเนื่องจากไม่มีที่ดินเพียงพอเเก่การเพาะปลูกหรืออาจต้องการปลูกพืชสำรองเผื่อมีเหตุไม่คาดฝันเกิดขึ้น
ภาพถ่ายจากดาวเทียมยังพบด้วยว่าพื้นที่เพาะปลูกของครัวเรือนที่ยากจนปลูกพืชในเวลาที่สั้นกว่า นักวิจัยกล่าวว่าเมื่อทีมงานกลับไปดูข้อมูลจากภาคสนาม พวกเขาพบว่าครัวเรือนยากจนมักไม่ปลูกพืชในพื้นที่เพาะปลูกเร็วเท่ากับครัวเรือนอื่นๆ นั่นเป็นเพราะว่าคนเหล่านี้ไปรับจ้างปลูกพืชให้กับครอบครัวที่ร่ำรวยกว่าเสียก่อนที่จะปลูกพืชของตน
พวกเขาจะใช้เงินที่ได้จากค่ารับจ้างปลูกพืชไปซื้อเมล็ดพืช ซึ่งทำให้พืชที่พวกเขาปลูกมีเวลาน้อยลงในการเติบโต
เดวิด นิวเฮ้าส์ (David Newhouse) นักเศรษฐศาสตร์แห่งธนาคารโลกซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการศึกษานี้กล่าวว่าผลการศึกษานี้เป็นก้าวย่างที่สำคัญ แสดงให้เห็นศักยภาพของภาพถ่ายทางดาวเทียมในการเเยกเเยะระหว่างความมั่งคั่งของคุณกับของเพื่อนบ้านและเขาชี้ว่านี่ค่อนข้างน่ากลัว เเต่ก็น่าตื่นเต้นด้วย
เขาเเนะนำว่าความกังวลเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวนี้ต้องได้รับแก้ไขเสียก่อนที่จะนำวิธีการศึกษาแบบนี้ไปใช้ในงานจริงๆ
แต่ยังไม่ชัดเจนว่าการเปลี่ยนแปลงต่อความยากจนจะสามารถมองเห็นได้จากภาพถ่ายดาวเทียมหรือไม่เเละคำถามนี้เป็นประเด็นที่ทีมนักวิจัยจะค้นหาคำตอบต่อไป
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)