มหกรรมกีฬาระดับโลก ‘โอลิมปิก’ ในปีนี้ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส จะเป็นครั้งแรกที่มีการแข่งขันเต้นรูดเสา สร้างความฮือฮาในวงการทั้งในแง่ความตื่นเต้นดีใจกับที่ทางในระดับโลกที่ได้รับ รวมทั้งความกังวลว่าการเป็นกีฬาจะพรากจิตวิญญาณดั้งเดิมของศาสตร์นี้ไป ตามการรายงานของรอยเตอร์
เต้นรูดเสา หรือการเต้นกับเสา (Pole Dancing) ได้รับการยอมรับให้เป็นกีฬาในปี 2017 โดยสมาคมสหพันธ์กีฬานานาชาติ (Global Association of International Sports Federations หรือ GAISF) ในปี 2017 หลังกิจกรรมโยกย้ายนี้มีภาพจำเชื่อมโยงอยู่กับอุตสาหกรรมวาบหวิวหรือคาบาเรต์มาเป็นเวลายาวนาน สะท้อนจากท่าทางชั้นครูที่ตั้งชื่อตามนักเปลื้องผ้าเช่น เจด สปลิท หรือแมเรียน แอมเบอร์
คลารา พอเชต์ อาจารย์สอนเต้นกับเสาในเมืองลานิยงของฝรั่งเศส กล่าวว่า การเต้นกับเสาเป็นกีฬาที่ต้องใช้ร่างกายสูงมาก เขาต้องใช้เวลาสามปีในการฝึกฝนบางท่าที่มีแรงกำลังไม่พอ
สำหรับคลารา เธอมองว่า การเต้นกับเสาควรมีที่ทางในแวดวงกีฬาได้แล้ว และกล่าวว่า การเต้นกับเสาก็ใช้ร่างกายหนักในแบบที่กีฬายิมนาสติกใช้ เพียงแค่บาร์โหนที่ใช้นั้นเปลี่ยนจากแบบบาร์คู่เป็นบาร์เดี่ยวแบบตั้งตรง
อย่างไรก็ตาม ผู้คนในวงการเต้นรูดเสาบางรายก็มองว่า แม้การเป็นกีฬาโอลิมปิกอาจสร้างความสนใจและช่วยให้ธุรกิจสอนเต้นเฟื่องฟูขึ้น แต่ก็เสี่ยงที่จะทำให้จิตวิญญาณของกิจกรรมนี้เลือนหายไป
เอโลดี คัทเซอ ผู้ร่วมก่อตั้งสถานฝึกฝนการเต้นรูดเสา Wild Pole studio ซึ่งมีลูกศิษย์ลูกหาทั้งที่มาจากวงการวาบหวิวและบุคคลทั่วไปทั้งชายและหญิงที่ต้องการออกกำลังกาย กล่าวกับรอยเตอร์ว่า รู้สึกเสียดายที่บางคนอยากจะแยกต้นกำเนิดสิ่งนี้ออกจากกีฬา ทั้ง ๆ ที่นักเต้นคาบาเรต์คือผู้สอนการเต้นกับเสาในยุคแรกเริ่ม
อันนา โกรินสตีน ผู้ร่วมก่อตั้ง Wild Pole studio อีกราย มองว่า การบรรจุเป็นกีฬานั้น เป็น “ดาบสองคม” เพราะความนิยมอาจจะทำให้ผู้คนมองการเต้นรูดเสาเชื่อมโยงกับเรื่องเพศน้อยลงและได้รับการยอมรับมากขึ้น แต่อีกด้านหนึ่ง องค์ประกอบเรื่องเพศนั้นก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมนี้เช่นกัน
“ความเสี่ยงก็คือ เราจะสูญเสียจิตวิญญาณของเรา” โกรินสตีนกล่าว
ด้านชาร์ล เฟอร์เรรา ประธานสมาพันธ์การเต้นแห่งฝรั่งเศส กล่าวกับรอยเตอร์ว่า น่าจะใช้เวลาประมาณ 10 ปีกว่าที่การเต้นกับเสาจะได้รับความนิยมในโอลิมปิก เนื่องจากต้องเข้าถึงผู้ชมอายุน้อยและสร้างที่ทางบนโลกโซเชียลมีเดีย
- ที่มา: รอยเตอร์
กระดานความเห็น