ในรายงานของกลุ่ม Global Alliance for Incinerator Alternatives (GAIA) และ Greenpeace East Asia นักวิเคราะห์รวบรวมข้อมูลจากผู้นำเข้าและผู้ส่งออก 21 รายที่การซื้อขายขยะพลาสติกที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ระหว่างปี พ.ศ. 2559 ถึง 2561
รายงานพบว่า การขยะที่นำเข้ามาสู่ประเทศไทย มาเลเซียและเวียดนาม เพิ่มขึ้นจากกลางปี 2017 ถึง ต้นปี 2018 และนำมาซึ่งการกระทำผิดกฎหมายในเรื่องการทิ้งและเผาขยะในที่โล่ง
นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่ยังพบปัญหาสารพิษปนเปื้อนในแหล่งน้ำ การสูญเสียผลผลิตจากการทำไร่ และโรคทางระบบทางเดินหายใจ
โบ บาคองเกียส จากหน่วยงาน GAIA กล่าวว่า “สำหรับประเทศที่เจริญแล้ว เรื่องการรีไซเคิ่ลขยะทำให้ทุกคนรู้สึกดี แต่ในความเป็นจริงขยะถูกนำไปทิ้งในประเทศอื่นที่ไม่พร้อมจัดการกับขยะอย่างถูกวิธี”
เธอกล่าวกับมูลนิธิ Thompson Reuters Foundation ว่า “ดังนั้น มลพิษจึงมุ่งหน้าสู่ประเทศด้านล่าง ที่ไม่มีศักยภาพรับมือกับขยะเหล่านี้”
รายงานพบว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เชื่อมโยงกับขยะพลาสติกกลายมาเป็นประเด็นถูกเปิดเผยต่อสาธารณะในบางประเทศ เช่นไทยและมาเลเซียเมื่อปีที่แล้ว และเกิดการประท้วงเพื่อให้มีมาตรการทางกฎหมายเพื่อควบคุมการนำขยะจากต่างประเทศเข้ามา
ผลที่ตามมาคือ ขยะถูกส่งไปประเทศอื่น เช่น อินโดนีเซีย และอินเดีย ที่ยังไม่มีรณรงค์ต่อต้านอย่างเข้มข้นจนรัฐออกกฎหมายที่เคร่งครัดมาควบคุม
เคท ลินแห่ง Greenpeace East Asia กล่าวว่า เหตุการณ์ที่ขยะถูกส่งต่อไปประเทศที่มีกฎหมายผ่อนปรนกว่า เป็นระบบที่หาเหยื่อไปเรื่อยๆ และสร้างความเสื่อมถอยต่อประสิทธิภาพ โดยไม่มีการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง
ก่อนหน้านี้ จีนเป็นผู้รับขยะพลาสติกจากต่างประเทศรายใหญ่ จนกระทั่งเมื่อปีที่แล้วที่รัฐบาลปักกิ่งออกกฎหมายห้ามนำเข้าขยะชนิดนี้
หลังจากนั้น ขยะพลาสติกปริมาณ 7 ล้านตัน มูลค่า 3,700 ล้านดอลลาร์ต่อปี ต้องพยายามหาประเทศผู้รับรายใหม่ จากประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ เช่น สหรัฐฯ อังกฤษ เยอรมนีและญี่ปุ่น
กลุ่มประเทศอนุสัญญา Basel ที่ว่าด้วยเรื่องขยะที่มีสารอันตรายข้ามประเทศ จะพบกันที่การประชุมในนครเจนีวา วันที่ 29 เมษายนนี้ เพื่อพิจารณาข้อเสนอของนอร์เวย์ให้มีการสร้างความโปร่งใสในธุรกิจการบริหารจัดการกับขยะที่มีการขนส่งข้ามเขตแดน
หากแนวทางของนอร์เวย์ได้รับการเห็นชอบ ประเทศผู้ส่งออกขยะพลาสติก จะต้องได้รับการยินยอมจากประเทศผู้รับเสียก่อนจึงขนส่งขยะได้ และต้องให้ข้อมูลเรื่องปริมาณและชนิดของขยะอย่างละเอียดด้วย
เคท ลินแห่งองค์การ Greenpeace กล่าวว่า หากเกิดขึ้นจริง แนวทางดังกล่าวจะเป็นก้าวที่ดี แต่คงไม่ใช้การแก้ปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จแน่นอน
(รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียงจากรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ส)