หุบเขา Rattlesnake Canyon ทางตะวันตกเฉียงเหนือรัฐนิวเม็กซิโกเป็นแหล่งต้นสนพันธุ์อเมริกาที่โตช้าและยังเป็นแหล่งขุดเจาะน้ำมันหลายพันบ่ออีกด้วย
บ่อน้ำมัน 1 ใน 3 ของทั้งหมดในหุบเขาแห่งนี้ มีการเดินเครื่องคอมเพรสเซอร์ดังจนแทบแก้วหูแทบแตก
ด็อกเตอร์ คลินตั้น ฟรานซิสนักนิเวศวิทยาวิวัฒนาการแห่งศูนย์ National Evolutionary Synthesis Center ที่รัฐนอร์ทแคโรไลน่า สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า เครื่องคอมเพรสเซอร์ทำงานเกือบทุกวัน ตลอดทั้งปี เครื่องจะหยุดเดินในช่วงการตรวคเช็คแค่นานๆหนเท่านั้น
ด็อกเตอร์ฟรานซิสศึกษาพฤติกรรมของนกพันธุ์ต่างๆในหุบเขา Rattlesnake Canyon ว่าตอบสนองต่อมลพิษทางเสียงจากเครื่องคอมเพรสเซอร์ที่บ่อขุดเจาะน้ำมันอย่างไร
นักวิจัยกล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่า นกผึ้งหรือนกฮัมมิ่งเบริ์ดพันธุ์คางดำชอบสร้างรังในสภาพสิ่งแวดล้อมที่เสียงดังมากมาก แต่ นก Western Scrub Jay หรือ นกจำพวกกางเขนจะหลีกเลี่ยงแหล่งที่มีเสียงดัง
เสียงของเครื่องคอมเพรสเซอร์ที่ดังกระหึ่มในหุบเขาแห่งนี้มีผลต่อพฤติกรรมของนกทั้งถิ่น ด็อกเตอร์ฟรานซิสชี้ว่าเสียงมีผลกระทบทางอ้อมต่อพืชเพราะนกและพืชพึ่งพากันและกันเพื่อความอยู่รอด เมื่อนกไม่มาหากินเมล็ดจากต้นไม้ การแพร่พันธุ์ของต้นไม้ลดลง
ด็อกเตอร์ฟรานซิส ยกตัวอย่างว่า นกกางเขนพันธุ์ Western Scrub Jay มีบทบาทสำคัญในการช่วยกระจายพันธุ์แก่ต้นสนอเมริกา นกชนิดนี้จะนำเม็ดสนไปฝังไว้เพื่อเก็บไว้กินในภายหลัง บางครั้งนกลืมจุดที่ฝังเม็ดสนไว้ เม็ดสนก็จะงอกเงยเป็นต้นกล้า
ด็อกเตอร์ฟรานซิสชี้ว่าในพื้นที่ที่เสียงดังมาก เขาพบจำนวนต้นกล้าของสนพันธุ์อเมริกาหรือ สนพินโย น้อยลง เขาตั้งข้อสงสัยว่านกกางเขนหลีกเลี่ยงการหากินในแหล่งอาหารที่มีเสียงดังรบกวน และทำการทดลองด้วยการวางเม็ดสนจำนวนมากในจุดที่มีเสียงดังเพื่อล่อนกกางเขนให้มากิน โดยติดตั้งกล้องถ่ายภาพไว้ ปรากฏว่าไม่มีนกกางเขนมากินเม็ดสนเลย แต่ฝูงหนูกินเม็ดสนที่วางไว้จนหมด ไม่เหลือไว้แพร่พันธุ์ตามธรรมชาติ
ด้อกเตอร์ฟรานซิสชี้ว่า ผลการทดลองพิสูจน์ให้เห็นว่านกกางเขนชอบหากินเม็ดสนและนำเม็ดสนไปฝังไว้เฉพาะในพื้นที่ที่เงียบสงบเท่านั้น จึงแสดงให้เห็นว่าเสียงจากเครื่องคอมเพรสเซอร์ที่บ่อขุดน้ำมั้นในหุบเขา Rattlesnake Canyon รัฐนิวเม็กซิโก มีผลให้การกระจายพันธุ์ของต้นสนอเมริกาลดต่ำลง
ขณะที่ต้นสนต้นใหม่ๆในหุบเขา Rattlesnake Canyon เริ่มลดลง กลับมีดอกไม้ขยายพันธุ์มากขึ้นในพื้นที่ป่าใกล้ๆ กับเครื่องขุดเจาะน้ำมัน นี่เป็นฝีมือการผสมเกสรดอกไม้ของนกฮัมมิ่งเบิร์ดพันธุ์คางดำหรือนกผึ้งที่ชอบสร้างรังในพื้นที่บริเวณ นกผึ้งสร้างรังในจุดที่มีเสียงดังเพราะมลพิษทางเสียงช่วยป้องกันไม่ให้นกกางเขนไม่ไปกินไข่และลูกของนกผึ้งในรัง
ทางด้าน คุณเกล เเพ็ททริสเซลลี่ นักนิเวศวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย California Davis กล่าวว่า งานวิจัยของด็อกเตอร์ฟราสซิส เป็นงานวิจัยชิ้นแรกที่แสดงให้เห็นถึงผลกระทบของมลภาวะทางเสียงต่อต้นไม้
คุณแพ็ททริสเซลลี่ กำลังศึกษาผลกระทบของเสียงต่อพืชเช่นกัน เธอบอกกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่าเสียงเดินทางไปได้ไกลและกินพื้นที่กว้าง อาทิ เสียงของเครื่องบิน หรือเสียงของรถราบนท้องถนน แต่ในปัจจุบัน คนเรายังมีความรู้จำกัดถึงผลกระทบของมลภาวะทางเสียงต่อระบบนิเวศวิทยา