คุณวิลเลี่ยม โบร๊อคคี่ (William Borucki) หัวหน้านักวิทยาศาสตร์โครงการเคปเลอร์ หรือโครงการกล้องโทรทรรศน์สำรวจอวกาศเคปเลอร์ (Kepler) ที่สหรัฐส่งออกสำรวจค้นหาดาวเคราะห์คล้ายโลกที่อยู่นอกระบบสุริยจักรวาลเมื่อเกือบ 2 ปีก่อน ประกาศถึงการค้นพบดาวเคราะห์ดวงใหม่มากกว่า 1 พัน 2 ร้อยดวง โดยมั่นใจว่าราวร้อยละ 80 ของกลุ่มดาวที่ค้นพบในครั้งนี้จะเป็นดาวเคราะห์และจะได้รับการยืนยันและพิสูจน์ในไม่ช้า
หัวหน้านักวิทยาศาสตร์โครงการเคปเลอร์ บอกว่า การค้นพบในครั้งนี้เป็นเพียงการสำรวจจากการมองผ่านกล้อง 1 ใน 400 ส่วนของท้องฟ้าเท่านั้น และยังมีโอกาสอีกถึง 400 ครั้งที่จะสำรวจท้องฟ้าในส่วนที่เหลือเพื่อค้นหาดาวเคราะห์ดวงอื่นๆอีก
คุณวิลเลี่ยม บอกด้วยว่า มีดาวเคราะห์ 68 ดวงที่มีขนาดใกล้เคียงกับโลก และในจำนวนนี้มี 54 ดวงที่มีลักษณะคล้ายกับโลกและอาจจะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่เพราะมีสภาพอุณหภูมิที่ไม่ร้อนเกินไปและไม่หนาวเกินไป รวมทั้งสภาพแวดล้อมน่าจะเอื้ออำนวยให้เกิดน้ำ
การค้นพบในครั้งนี้สร้างความประหลาดใจต่อวงการวิทยาศาสตร์อย่างมากเพราะก่อนหน้านี้ข้อมูลในวงการด้านดาราศาสตร์ยืนยันว่าจำนวนดาวเคราะห์นอกระยะสุริยะนั้นมีประมาณ 500 ดวงเท่านั้น และมีดาวเคราะห์เพียง 6 ดวงที่ได้รับการยืนยันว่าเป็นการค้นพบครั้งใหม่
แม้หัวหน้านักวิทยาศาสตร์โครงการเคปเลอร์ จะแสดงเชื่อมั่นในการค้นพบครั้งนี้แต่ทุกอย่างยังต้องได้รับการตรวจสอบและพิสูจน์เพราะการค้นพบดาวเคราะห์ที่มีสภาพเหมาะกับการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต ไม่ได้หมายความว่าจะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่จริง ซึ่งกรณีของดาวอังคารก็เป็นตัวอย่างที่ดี นอกจากนี้การที่นักวิทยาศาสตร์ต้องการสำรวจหาสิ่งมีชีวิต ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องหมายถึงสิ่งมีชีวิตที่มีความฉลาดหรือ แต่อาจจะเป็นสิ่งมีชีวิตประเภทแบคทีเรีย เชื้อรา หรือสิ่งมีชีวตที่ไม่มีใครสามารถจินตนาการได้