สองนักวิจัยผู้บุกเบิกการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในวันอังคาร จากการทุ่มเทให้กับการสร้างสรรค์องค์ประกอบของระบบคอมพิวเตอร์สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองโดยใช้ข้อมูล (machine learning) ตามรายงานของเอพี
จอฟฟรี ฮินตัน นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโตรอนโต ประเทศแคนาดา ผู้เป็นที่รู้จักในวงการว่าเป็น เจ้าพ่อของ AI และจอห์น ฮอพฟิลด์ ชาวอเมริกันที่ทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน คือ ผู้ชนะรางวัลในปีนี้
มาร์ค เพียร์ซ สมาชิกคณะกรรมการโนเบลสาขาฟิสิกส์ กล่าวว่า “สุภาพบุรุษทั้งสองท่านนั้นเป็นผู้บุกเบิกตัวจริง” และว่า “ทั้งสอง ... ทำงานที่เป็นพื้นฐาน ที่อ้างอิงความเข้าใจทางกายภาพอันนำมาซึ่งการปฏิวัติดังที่เราได้เห็นในวันนี้ ในเรื่องของ machine learning และ AI”
เอลเลน มูนส์ สมาชิกคณะกรรมการโนเบลแห่งราชบัณฑิตสภาด้านวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดน (Royal Swedish Academy of Sciences) กล่าวเสริมว่า เครือข่ายระบบประสาทประดิษฐ์ที่นักวิจัยทั้งสองทำการบุกเบิกไว้ถูกนำมาใช้ในงานด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์ และ “ยังได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของเรา เช่น ระบบจดจำใบหน้า (facial recognition) และระบบแปลภาษา”
ฮินตันวัย 76 ปี จากมหาวิทยาลัยโตรอนโต กล่าวในวันอังคารว่า รู้สึกตกใจมากที่ได้รับเกียรตินี้ และบอกกับคณะกรรมการโนเบลที่โทรมาแจ้งข่าวว่า “ผมพูดไม่ออกเลย ไม่คิดมาก่อนว่า จะเกิดขึ้นจริง” ขณะที่ ยังไม่มีความเห็นในเรื่องนี้จาก ฮอพฟิลด์ นักวิจัยชาวอเมริกันวัย 91 ปีต่อการได้รับรางวัลครั้งนี้
ขณะเดียวกัน ฮินตัน คาดการณ์ว่า AI จะกลายมาเป็นสิ่งที่มี “อิทธิพลอันใหญ่หลวง” ต่ออารยธรรม และช่วยพัฒนายกระดับความสามารถในการผลิตและบริการดูแลสุขภาพ เป็นต้น
นักวิจัยผู้นี้ยังกล่าวด้วยว่า AI นั้นเปรียบได้เหมือนกับเมื่อครั้งที่เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม และจะนำมาซึ่งสิ่งดี ๆ หลายอย่างให้กับผู้คน แต่ก็เตือนด้วยว่า “เรายังต้องกังวลเกี่ยวกับผลกระทบด้านลบบางอย่างที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะภัยคุกคามจากสิ่งเหล่านี้ที่หลุดออกไปนอกการควบคุม”
คณะกรรมการโนเบลที่มอบรางวัลนี้ได้ออกปากพูดถึงความกลัวเกี่ยวกับด้านลบของวิวัฒนาการ machine learning และ AI ด้วย โดยระบุว่า แม้ความก้าวหน้านี้จะมีคุณประโยชน์มหาศาล “พัฒนาการที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ก็นำมาซึ่งความกังวลเกี่ยวกับอนาคตด้วย โดยรวมแล้ว มนุษย์เราล้วนมีหน้าที่รับผิดชอบต่อการใช้เทคโนโลยีใหม่นี้ ในแบบที่ปลอดภัยและไม่ผิดจริยธรรม เพื่อประโยชน์สูงสุดสำหรับมนุษยชาติ”
นอกเหนือจากตัวเหรียญรางวัลแล้ว ผู้ได้รับโนเบลสาขาฟิสิกส์จะได้รับเงินรางวัลเงินสดมูลค่า 11 ล้านโครนสวีเดน หรือราว 1 ล้านดอลลาร์ด้วย
- ที่มา: เอพี
กระดานความเห็น