ลิ้งค์เชื่อมต่อ

เรื่องเล่าจาก ‘ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์’ - ลุ้นกันหนักกว่าจะได้เยือน 'ไข่มุกแห่งอันดามัน'


FRENCH TOURIST TOUA YANG TAKES A JOY RIDE ON PRIVATE SPEED BOAT IN PHUKET (Photo by TOUA YANG)
FRENCH TOURIST TOUA YANG TAKES A JOY RIDE ON PRIVATE SPEED BOAT IN PHUKET (Photo by TOUA YANG)
Phuket Sandbox Tourist Experience
please wait

No media source currently available

0:00 0:05:54 0:00


หลังการระบาดของโควิด-19 ดำเนินมานานกว่าหนึ่งปีครึ่ง รัฐบาลไทยได้ประกาศโครงการเปิดประเทศเพื่อต้อนรับชาวต่างชาติครั้งแรก ภายใต้โครงการนำร่อง ‘ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์’ ซึ่งได้เริ่มตั้งแต่ต้นเดือนกรกฏาคม

อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวจำนวนมากได้ใบรับรองการเดินทางเข้าประเทศ หรือ COE ในช่วงเวลาที่กระชั้นชิด วีโอเอ ไทยจึงสัมภาษณ์นักท่องเที่ยวกลุ่มแรกๆถึงประสบการณ์หลากหลายในการเดินเข้าเกาะภูเก็ต...ที่ขึ้นชื่อว่าไข่มุกแห่งอันดามัน

ทาลิชา เจอร์เมน นักท่องเที่ยวชาวอเมริกันที่เดินทางเข้าเกาะภูเก็ตเป็นกลุ่มแรกในวัน 1 กรกรฏาคมซึ่งเป็นวันที่โครงการ ‘ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์’ เริ่มต้นขึ้น ทาลิชาบอกผ่านวีโอเอไทยว่า รู้สึกดีมากเมื่อเดินทางถึงท่าอากาศยานภูเก็ต มีเจ้าหน้าที่และสื่อมวลชนจำนวนมากคอยรอต้อนรับ มีการแจกของฟรีทั้งเจลล้างมือและหน้ากากอนามัย ภาพบรรยากาศวันนั้นทำให้เธอกลับไปค้นหาข้อมูลและพบว่าภูเก็ตต้องปิดเกาะไปนานเกือบ 2 ปีเพราะการะบาดของโควิด

โครงการ ‘ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์’ จึงมีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากเป็นโปรแกรมนำร่องครั้งแรกที่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติและชาวไทยที่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิดครบโดสและอาศัยอยู่ในประเทศที่มีความเสี่ยงของโควิดในระดับต่ำและปานกลาง สามารถเดินทางเข้ามาสัมผัสความสวยงามของเกาะภูเก็ตได้โดยที่ไม่ต้องกักตัว

TALISHA GERMAIN AND HER PARTNER IN PHUKET (Photo by TALISHA GERMAIN)
TALISHA GERMAIN AND HER PARTNER IN PHUKET (Photo by TALISHA GERMAIN)

นักท่องท่องเที่ยวชุดแรกหลายๆคน ได้รับใบรับรองการเข้าประเทศไทย หรือ COE (Certificate of Entry) เพียงไม่นานก่อนออกเดินทางจากประเทศของพวกเขา

ทาลิชาบอกว่าเธอและแฟนหนุ่มไม่ได้รับการอนุมัติใบ COE ถึง 6 ครั้ง เนื่องจากเหตุผลหลายประการ เช่น ระบบที่ไม่มีคำสั่งชัดเจนในช่วงแรกว่าต้องอัพโหลดเอกสารที่ใด ระบบล่ม หรือ การเปลี่ยนแปลงของระบบลงทะเบียนที่มาเปิดในวันที่ 28 มิถุนายน หรือ 2 วันก่อนที่โครงการจะเริ่ม

เธออธิบายต่อว่าเธอพยามติดต่อเจ้าหน้าที่หลายครั้ง ทั้งโทรศัพท์และอีเมลแต่ก็ไม่มีใครตอบกลับ เธอจึงหันไปพึ่งกลุ่มเฟสบุ๊คต่างๆในการหาคำตอบแทน

จนเมื่อบ่ายวันที่ 30 มิถุนายน หรือ ประมาณ 8 ชั่วโมงก่อนที่เที่ยวบินของเธอจะออกจากท่าอากาศยาน JFK ในนครนิวยอร์ก เธอได้รับการอนุมัติเบื้องต้น หรือ pre-approval ซึ่งเป็นขั้นตอนก่อนที่จะได้รับใบ COE

ทาลิชาเล่าว่า “เธอบอกให้แฟนเธอรีบเก็บกระเป๋าเดี๋ยวนี้ แต่แฟนถามกลับด้วยความงุนงงว่าจะเก็บกระเป๋าทำไม เราจะไปไหนกันและเอกสารเข้าประเทศไทยอยู่ที่ไหน…ก่อนที่ไฟลท์จะออกประมาณ 5 ชั่วโมง ทาลิชาสามารถติดต่อเข้ากงสุลไทยในนิวยอร์กได้และคุยกับเจ้าหน้าที่ถึงสถานการณ์ของเธอ สุดท้ายเธอก็ได้รับใบ COE และได้บินเข้าภูเก็ตในที่สุด”

เรื่องราวที่ฟังดูแล้วน่าลุ้นจนตัวโก่ง เป็นประสบการณ์ที่นักท่องเที่ยวรายอื่นก็ผ่านมาเช่นกัน นักท่องเที่ยวชาวฝรั่งเศส ทูอา ยาง เล่าให้วีโอเอไทยฟัง ถึงความรู้สึกก่อนที่จะได้รับใบ COE ประมาณ 20 ชั่วโมงก่อนเวลาบินว่า เขารู้สึกกังวลมากประเทศไทยที่ประเทศที่เขาชื่นชอบมากที่สุด เขาไปมาแล้ว 7 ถึง 8 ครั้ง สำหรับเขา มันสำคัญมากที่ได้ไปพักผ่อนที่ประเทศไทยอย่างน้อยปีละครั้ง ปีที่แล้วเขาไปไม่ได้เพราะโควิด เพราะฉะนั้นปีนี้ เขาจะสู้ เขาจะต้องเป็นคนกลุ่มแรกที่ได้กลับไปเที่ยวเมืองไทย

ซึ่งก่อนหน้านั้น เขาไม่ผ่านการอนุมัติใบ COE ถึง 3 ครั้ง โดยระบุเหตุผลคล้ายคลึงกันกับทาลิชา

FRENCH TOURIST TOUA YANG POSES ON KOH HE IN PHUKET (Photo credit: TOUA YANG)
FRENCH TOURIST TOUA YANG POSES ON KOH HE IN PHUKET (Photo credit: TOUA YANG)

ทั้งนี้ สาเหตุหลักที่กระทรวงต่างประเทศเผชิญกับความล่าช้าในการออกใบ COE เพราะกฎหมายที่ระบุมาตรการการเปิดประเทศอย่างเป็นทางการ ได้รับการประกาศลง ราชกิจจานุเบกษา ในช่วงค่ำของวันที่ 29 มิถุนายน หรือเพียงแค่หนึ่งวันก่อนที่โครงการจะเริ่ม

โฆษกกระทรวงต่างประเทศ ธานี แสงรัตน์ อธิบายผ่านการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ว่า นอกเหนือจากแสดงหลักฐานการจองโรมแรม บัตรรับวัคซีน ตั๋วเครื่องบิน และประกันสุขภาพ “มีข้อกำหนดเพิ่มเติมให้ผู้ลงทะเบียนขอ COE ต้องแสดงหลักฐานการชำระค่าตรวจโควิด-19 กับโรงแรมที่พัก 3 ครั้งนะครับ”

กฎดังกล่าวสร้างความประหลาดใจให้กับโรงแรมหลายแหล่ง นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ภูมิกิตติ์ รักแต่งาม กล่าวผ่าน Facebook Live ว่า“ข้อปฏิบัตินี้สมาคมเองก็เพิ่งทราบเมื่อคืนวันอาทิตย์ครับ และก็ได้มีความพยามที่จะแก้ปัญหาในหลายระดับด้วยกัน”

NAT VACHARANAN in Phuket (Photo credit: NAT VACHARANAN)
NAT VACHARANAN in Phuket (Photo credit: NAT VACHARANAN)

“มีกฎใหม่มาอีกแล้ว ว่าต้องขอ ต้องจ่ายค่า PCR Test ล่วงหน้าก่อน ... แล้วขอที่ไหน โทรไปถามโรงแรมก็รู้พร้อมเราเลย เขาก็บอกต้องรอทางจังหวัดภูเก็ตเค้าประชุม สรุป เค้าก็รีบติดต่อเรา โอเคบอกว่า เราต้องจ่ายเต็มจำนวนนะคะ มา 3 คน คนละ 8,000 พัน เด็ก 4 ขวบก็ต้องจ่าย...คือรัฐบาลเปิดภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์มาเพื่อให้นักท่องเที่ยวมาหมุนเศรษฐกิจ แต่ถ้าทุกอย่างมันแพง อย่างพวก backpacker ที่อยากมาเที่ยว มันจะลำบากเค้ารึเปล่า”

ส่วนชาวไทยที่พำนักอยู่สหราชอาณาจักร จิรสิริ วัชรานันท์ที่เดินทางไปเป็นนักท่องเที่ยวของภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์กับลูกๆของเธอก็ได้รับการอนุมัติ COE เพียงแค่ 2 วันก่อนที่ไฟลท์เวลาบินออกจากกรุงลอนดอน เธอแสดงความคิดเห็นผ่านวีโอเอไทยว่า:

ล่าสุด กระทรวงการท่องเที่ยวได้ประกาศเมื่อค่ำวันที่ 6 กรกฎาคมว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าภูเก็ตทั้งหมดในระยะเวลา 5 วันแรกถึง 1,896 คน และได้เตรียมพร้อมที่จะเดินหน้าเปิดเกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาเต่าภายใต้โปรแกรม ‘สุราษฎร์ธานี+’ ในวันที่ 15 กรกฎาคมนี้

(เรื่องโดย จณิน ภักดีธรรม)

XS
SM
MD
LG