ชาวอเมริกันจำนวนมากหาวิธีกำจัดเสื้อผ้าเก่าๆ ทิ้ง ขณะที่การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ยังคงดำเนินต่อไป มาตรการควบคุมต่างๆ เริ่มผ่อนคลายลง และสำนักงานต่างๆ กลับมาเปิดทำการอีกครั้ง เสื้อผ้าเหล่านั้นถูกนำไปขายในเว็บไซต์ขายของมือสองและถูกส่งไปตามศูนย์บริจาค
ตลาดเสื้อผ้ามือสอง ThredUP ได้จ่ายเงินให้กับบริษัทวิจัย GlobalData เพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของธุรกิจเสื้อผ้ามือสอง
การคาดการณ์โดย GlobalData ชี้ให้เห็นว่าธุรกิจนี้จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจาก 36,000 ล้านดอลลาร์เป็น 77,000 ล้านดอลลาร์ในปีค.ศ. 2025
James Reinhart เจ้าของธุรกิจตลาดเสื้อผ้ามือสอง ThredUP กล่าวว่าการเติบโตดังกล่าวได้รับแรงหนุนจากผู้ขายรายใหม่ๆ ที่นำเสื้อผ้าคุณภาพสูงเข้าสู่ตลาด และประเมินว่าคนอเมริกันมีเสื้อผ้าที่ไม่ได้สวมใส่มูลค่ารวมกันอย่างน้อย 9,000 ล้านดอลลาร์
ทั้งนี้การซื้อและขายเสื้อผ้ามือสองได้รับความนิยมมาตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด แต่นับตั้งแต่เกิดโรคระบาด ธุรกิจการซื้อและขายเสื้อผ้ามือสองก็แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
Reinhart กล่าวว่าทุกวันนี้นักช้อปทั้งหลายคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น
พวกเขาต่างพากันเสาะหาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าซึ่งสามารถขายต่อได้ราคาดี แทนที่จะเป็นเสื้อผ้าราคาถูกและคุณภาพต่ำที่เรียกกันว่า Fast Fashion หรือแฟชั่นแบบมาเร็วไปเร็ว เรื่องดังกล่าวเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเชื่อใหม่ๆ ในการซื้อเสื้อผ้าที่ไม่ใช่แค่การซื้อมา ใส่ไป แล้วโยนทิ้ง อีกต่อไป เพราะคนกำลังให้ความสนใจมากขึ้นกับการไม่ผลิตขยะของเสีย
TheRealReal เว็บไซต์ขายสินค้าฟุ่มเฟือยมือสองที่มีสมาชิกมากกว่า 22 ล้านคน รายงานว่ามูลค่ารวมของสินค้ามือสองที่ขายในปีนี้จนถึงเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ประมาณ 239 ล้านดอลลาร์ และว่าตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้น 53 เปอร์เซ็นต์จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2019
Jessica Richards ผู้ทำการศึกษาและคาดการณ์ความเคลื่อนไหวในอุตสาหกรรมแฟชั่นแห่ง Accessories Council ซึ่งเป็นกลุ่มการค้าที่ไม่แสวงหากำไรกล่าวว่า จากการศึกษาพบว่ามีคนจำนวนมากที่ลงทุนในเรื่องการซื้อเสื้อผ้าของตน และตอนนี้คนเหล่านั้นก็กำลังคิดทบทวนถึงเหตุผลในการครอบครองสิ่งเหล่านั้น
เธอกล่าวอีกว่า ปัจจุบันนี้บรรดานักช็อปต่างใส่เสื้อผ้าแบบง่ายๆ และพยายามสร้างสไตล์หรือภาพลักษณ์ของตัวเองขึ้นมา
หลายๆ คนชอบสไตล์การแต่งตัวของตัวเองในช่วงการเกิดโรคระบาดใหญ่ เช่น Cameron Howeหญิงวัย 33 ปีจากเมืองลินช์เบิร์ก รัฐเวอร์จิเนีย เล่าว่าเธอซื้อกางเกงผ้ายืดที่เรียกว่า “เลกกิ้ง” ในช่วงเกิดโรคระบาดถึง 15 ตัว และวางแผนที่จะใส่กางเกงแบบนี้ต่อไป
เธอบอกอีกว่า โชคดีที่ทั้งอดีตนายจ้างและนายจ้างใหม่ของเธอไม่มีปัญหาที่เธอใส่เลกกิ้งไปทำงานและว่าตอนนี้เธอไม่อยากจะใส่กางเกงแบบอื่นๆ อีกแล้ว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเสื้อผ้าจำนวนมากจะถูกส่งไปตามศูนย์บริจาคและเว็บไซต์ขายของมือสอง แต่หลายๆ คนก็ยังเก็บเสื้อผ้าเหล่านี้ไว้ในครอบครัว
อย่าง Samantina Zeon วัย 31 ปีในนครนิวยอร์ก เธอมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นในช่วงวิกฤตสุขภาพ และเช่นเดียวกับหลายๆ คน เธอมีเสื้อผ้าดีๆ มากมายที่ใส่ไม่ได้อีกต่อไป ดังนั้นเธอจึงวางแผนที่จะส่งเสื้อผ้าเหล่านั้นไปให้ญาติที่ประเทศเฮติ ซึ่งเธอบอกว่าคนที่มีครอบครัวอยู่ในประเทศอื่นๆ ก็ทำแบบนี้เช่นเดียวกัน และว่าญาติชาวเฮติของเธอวางแผนที่จะขายเสื้อผ้าเหล่านั้นในละแวกบ้านเพื่อหารายได้พิเศษอีกด้วย
ที่มา: The Associated Press