อวตาร์ (Avatar) คือภาพอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้แทนตัวตนของคนในวิดีโอเกม ดังนั้นคนที่เล่นวิดีโอเกมก็ต้องการให้อวตาร์ของตนดูดี โดยการให้ความสนใจกับสิ่งที่อวตาร์สวมใส่ไม่ต่างจากในชีวิตจริง
Decentraland บริษัทเกมแห่งหนึ่งได้ประกาศเมื่อเดือนมิถุนายนว่า ผู้เล่นสามารถออกแบบและขายเสื้อผ้าสำหรับอวตาร์ของตนเพื่อสวมใส่ในเกม ซึ่งไม่ใช่เสื้อผ้าจริงที่ทำจากเนื้อผ้า แต่เป็นการออกแบบเสื้อผ้าดิจิทัลเท่านั้น
แนวคิดในการใช้จ่ายเงินจริง ๆ เพื่อซื้อเสื้อผ้าที่ไม่มีอยู่จริง ทำให้หลายคนสับสน แต่ในโลกเสมือนจริงของวิดีโอเกม การขายสินค้าเหล่านี้สามารถสร้างรายได้มหาศาล โดยการใช้สภาพแวดล้อมออนไลน์ที่ผู้คนมารวมตัวกัน พบปะเพื่อนฝูง และเล่นเกม
Hiroto Kai จากรัฐนิวแฮมป์เชียร์ ของสหรัฐฯ มีชื่อจริงว่า Noah เขาเป็นศิลปินดิจิทัลที่เริ่มออกแบบเสื้อผ้าสไตล์ญี่ปุ่น
Kai เล่าว่า เขาขายชุดกิโมโนดิจิทัลในราคาตัวละ 140 ดอลลาร์ และมีรายได้ราว 15,000 ดอลลาร์ภายในสามสัปดาห์ ชุดกิโมโนเสมือนจริงของ Kai เป็นผ้าสีน้ำเงินสวยงามพร้อมลวดลายมังกรทอง หลังจากสร้างรายได้มหาศาลจากการผลิตเสื้อผ้าสไตล์ญี่ปุ่นเสมือนจริงแล้ว เขาได้ลาออกจากงานที่ร้านขายเครื่องดนตรีเพื่อทำงานออกแบบเสื้อผ้าแบบเต็มเวลา โดยเขาบอกว่านี่คือวิธีการใหม่ในการแสดงออกถึงตัวตน
เสื้อผ้าสำหรับอวตาร์หรือที่เรียกว่า "wearables" นั้น สามารถซื้อและขายได้ใน Decentraland โดยใช้เงินดิจิทัลที่เรียกว่า non-fungible token หรือ NFT ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลที่จัดเก็บไว้ในบัญชีดิจิทัลที่เรียกว่า blockchain NFT ถือเป็น token ที่มีความแตกต่างเฉพาะตัว ไม่ซ้ำใคร และสามารถขายเป็นเงินจริงได้
NFT ได้รับความนิยมเมื่อต้นปีนี้ เนื่องจากผู้ที่มีความเชื่อในคริปโตเคอร์เรนซี (cryptocurrency) หรือสกุลเงินดิจิทัล เริ่มซื้อทรัพย์สินที่มีอยู่ในโลกเสมือนจริงเท่านั้น เช่น ดิจิทัลอาร์ต หรือที่ดินในเกมออนไลน์
โลกเสมือนจริงแบบใหม่นี้ได้รับความสนใจจากบริษัทแฟชั่นที่ใหญ่ที่สุดในโลกบางแห่ง พวกเขาต้องการพัฒนาแฟชั่นออนไลน์ให้กลายเป็นส่วนสำคัญในอุตสาหกรรมของตน
Louis Vuitton ได้เปิดตัวเกมที่ผู้เล่นสามารถสะสม NFT ได้ ส่วน Burberry ได้สร้างผลิตภัณฑ์สำหรับ Blankos Block Party ซึ่งเป็นเกมที่บริษัท Mythical Games เป็นเจ้าของ และ Gucci ขายเสื้อผ้าสำหรับอวตาร์ในเกม Roblox
Imani McEwan นายแบบจากไมอามี และเป็นผู้ซื้อ NFT กล่าวว่า อวตาร์เป็นเสมือนตัวแทนของผู้เล่นเกม ดังนั้น สิ่งที่อวตาร์สวมใส่อยู่ก็คือสิ่งที่บ่งบอกตัวตนของผู้เล่น McEwan ได้ใช้เงินไป 15,000 ถึง 16,000 ดอลลาร์ในการซื้อเสื้อผ้าเสมือนจริง 70 ชิ้นตั้งแต่เดือนมกราคม โดยใช้เงินที่ได้มาจากการลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซี และเขาเพิ่งจะซื้อหมวกสีดำที่ออกแบบโดยเพื่อนของเขาเอง
ปัจจุบัน ขนาดของตลาดเสื้อผ้าเสมือนจริงของ NFT นั้นยากที่จะทราบได้ ข้อมูลจาก NonFungible.com ซึ่งเป็นบริษัทที่ติดตามตลาด NFT ระบุว่า ใน Decentraland มียอดขายเสื้อผ้าเสมือนจริงอยู่ที่ประมาณ 750,000 ดอลลาร์ในช่วงหกเดือนแรกของปีนี้
Julie Schwartz ผู้อำนวยการของ Republic Realm ซึ่งเป็นบริษัทด้านการลงทุนเสมือนจริง เพิ่งจะสร้างแหล่งช้อปปิ้งภายใน Decentraland ซึ่งผู้เล่นเกมสามารถเลือกซื้อเสื้อผ้าเสมือนจริง หรือเสื้อผ้าของจริงที่จะจัดส่งถึงบ้านได้
Paula Sello และ Alissa Aulbekova ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทแฟชั่นดิจิทัล Auroboros กล่าวว่า การช้อปปิ้งในรูปแบบใหม่นี้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า โดยผู้ซื้อจะส่งภาพของตัวเองให้กับ Auroboros และให้ทางบริษัทออกแบบเสื้อผ้าดิจิทัลให้ด้วยราคา 80 ถึง 1,300 ดอลลาร์
นอกจากนี้ยังมีรองเท้าเสมือนจริงจากบริษัท RTFKT ซึ่งเป็นรองเท้าที่สามารถสวมใส่ได้ในเกมหรือบนโซเชียลมีเดีย Steven Vasilev ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทนี้กล่าวว่า ธุรกิจของบริษัทเติบโตขึ้นมาก เมื่อเริ่มมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้มีผู้คนจำนวนมากเข้าสู่โลกออนไลน์กันมากขึ้น
ทั้งนี้ RTFKT ทำยอดขายได้มากกว่า 7 ล้านดอลลาร์ รองเท้าบางคู่ของบริษัทนี้ขายไปในราคา 10,000 ถึง 60,000 ดอลล่าร์ในสกุลเงิน NFT เลยทีเดียว
(ที่มา: Reuters)