ศาลพิเศษปากีสถานพิพากษาจำคุกอดีตนายกรัฐมนตรีอิมราน ข่าน เป็นเวลา 10 ปีในวันอังคาร ตามความผิดฐานเปิดเผยความลับราชการ ที่ตัวเขาอ้างว่าสหรัฐฯ สมคบคิดในการล้มรัฐบาล
นอกจากข่านแล้ว ชาห์ เมห์มูด คูเรชี รัฐมนตรีต่างประเทศในรัฐบาลของเขาก็ได้รับโทษเดียวกันในฐานฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยความลับราชการ จากความผิดในการเปิดเผยบันทึกลับการสื่อสารของนักการทูต หรือที่เรียกกันเป็นการภายในว่า ‘ไซเฟอร์’ ในขณะที่ทั้งสองดำรงตำแหน่ง
ข่านอ้างว่าบันทึกการสื่อสารดังกล่าว เป็นบันทึกเกี่ยวกับบทบาทของสหรัฐฯ ในการล้มรัฐบาลของเขาผ่านการสนับสนุนของกองทัพ เพื่อเป็นการลงโทษที่นำปากีสถานออกจากอิทธิพลของสหรัฐฯ โดยรัฐบาลวอชิงตันและกองทัพปากีสถานได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหานี้
ที่ผ่านมา อดีตนายกรัฐมนตรี วัย 71 ปี ที่ถูกพันธมิตรฝ่ายค้านโค่นลงจากอำนาจเมื่อเดือนเมษายน 2022 ปฏิเสธการไต่สวนในคดีนี้ โดยให้เหตุผลว่าเป็นคดีความที่มีแรงจูงใจทางการเมืองอยู่เบื้องหลังและเกิดขึ้นโดยน้ำมือของกองทัพ
คดีความนี้ถูกไต่สวนโดยศาลที่มีผู้พิพากษาคนเดียว และเกิดขึ้นภายในพื้นที่เรือนจำความมั่นคงสูงใกล้กรุงอิสลามาบัด โดยไม่อนุญาตให้สื่อต่างประเทศและสื่อหลักของปากีสถานเข้าฟังการไต่สวน
คำพิพากษาในวันอังคาร มีขึ้นก่อนหน้าที่ปากีสถานจะจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาในวันที่ 8 กุมภาพันธ์
บันทึกการสื่อสารที่นำมาซึ่งคดีความ ถูกส่งมาจากเอกอัครราชทูตปากีสถานประจำกรุงวอชิงตันเมื่อเดือนมีนาคม 2022 เป็นเวลาหนึ่งเดือนก่อนที่รัฐสภาจะลงคะแนนเสียง (โหวต) ไม่ไว้วางใจที่นำมาซึ่งการนำข่านลงจากตำแหน่ง
ข่านกล่าวว่า เนื้อหาในไซเฟอร์นั้นกล่าวถึงการทึ่สหรัฐฯ สนับสนุนให้กองทัพปากีสถานจัดฉากการโหวตไม่ไว้วางใจดังกล่าวขึ้น และตัวเขามีความจำเป็นที่จะต้องเปิดโปง “การสมคบคิด” ที่ต่างชาติกระทำต่อรัฐบาลของเขาให้ฐานเสียงได้รับรู้
ข่าน เป็นอดีตฮีโร่นักกีฬาคริกเก็ตที่ผันตัวมาเป็นนักการเมือง ขึ้นสู่อำนาจในปี 2018 หลังพรรคปากีสถาน เตห์รีค-อี-อินซัฟ (PTI) ชนะการเลือกตั้ง เขามีแนวทางในเรื่องหลัก ๆ รวมถึงนโยบายต่างประเทศต่างไปจากกองทัพ ซึ่งเป็นสถาบันที่เคยปกครองประเทศมาเป็นเวลามากกว่า 30 ปี และจุดนี้เป็นสิ่งที่ตัวเขามองว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาหลุดจากตำแหน่ง
ข่านถูกจำคุกมาตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้วด้วยความผิดฐานคอร์รัปชัน โดยได้รับโทษจำคุก 3 ปี และต่อมาถูกตัดสิทธิการลงเลือกตั้งอีก 5 ปีตามกฎหมายการเลือกตั้ง
นอกจากนั้น การโค่นล้มรัฐบาลผ่านการสนับสนุนของทหาร ทำให้แกนนำพรรค PTI หลายคนถูกคุมขัง จนสมาชิกที่เหลือต้องเลือกระหว่างการลาออกจากพรรคหรือไปเข้าร่วมกับกลุ่มฝ่ายค้าน แต่แม้เจอมรสุมทางการเมืองอย่างหนัก โพลล์สาธารณะยังคงชี้ว่า ข่านเป็นนักการเมืองที่ได้รับความนิยมสูงสุด และพรรค PTI ก็ยังเป็นพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ
ในช่วง 77 ปีของการเป็นรัฐเอกราช กองทัพปกครองปากีสถานเป็นเวลามากกว่า 3 ทศวรรษ และถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังในการกำหนดว่าใครจะได้เป็นรัฐบาลในช่วงเวลาที่ไม่ได้มีอำนาจโดยตรง
กองทัพปฏิเสธเรื่องการเข้าไปแทรกแซงทางการเมือง แต่ว่าอดีตผู้บัญชาการอย่าง พล.อ.คามาร์ จาเวด บาจวา ยอมรับในการแถลงที่มีการออกอากาศในปี 2022 ว่ากองทัพเข้าไปมีบทบาททางการเมืองจริงในช่วง 70 ปีที่ผ่านมา
- ที่มา: วีโอเอ
กระดานความเห็น