Raeena อายุเพียง 14 ปีตอนแต่งงานกับสามีที่อายุแก่กว่าถึง 21 ปี หลังแต่งงาน เธอต้องย้ายเข้าไปอยู่ร่วมชายคาเดียวกันกับครอบครัวของสามีโดยไม่รู้ว่าการแต่งงานคืออะไรและตัวเองถูกคาดหวังอะไรบ้าง
ในสังคมปากีสถาน ศักดิ์ศรีของครอบครัวมักเกี่ยวข้องกับการเข้าสู่วัยแตกสาวของลูกสาว ซึ่งนี่กลายเป็นแรงกดดันให้มารดาของ Raeena ตัดสินใจให้ลูกสาวออกเรือนตั้งแต่อายุยังน้อย
นาง Shahida แม่ของ Raeena กล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอที่กรุงอิสลามบัดว่า ตนเองกลัวว่าลูกสาวจะทำให้ศักด์ศรีของตนและของสามีเสื่อมเสีย จึงตัดสินใจให้ลูกสาวแต่งงานแม้จะอายุยังน้อยก็ตาม
ผู้สื่อข่าววีโอเอที่กรุงอิสลามบัดรายงานว่า มีเด็กหญิงชาวปากีสถานหลายแสนคนทั่วประเทศที่ตกอยู่ในสภาพเดียวกับ Raeena ที่ถูกบังคับให้แต่งงานทั้งๆ ที่ขาดความพร้อมทั้งทางร่างกายและจิตใจ
ในขณะที่การแต่งงานเด็กในปากีถานเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับทั้งเด็กหญิงและเด็กชาย ผลการศึกษาชิ้นล่าสุดที่จัดทำโดย Plan International หน่วยงานรณรงค์ด้านสิทธิ์เด็ก รายงานว่าเด็กผู้หญิงในปากีสถานแต่งงานอายุน้อยกว่าเด็กผู้ชายหลายปี เด็กผู้หญิงบางคนถูกจับแต่งงานตั้งแต่เริ่มมีประจำเดือนครั้งแรก
การจัดเก็บข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับจำนวนเด็กหญิงและเด็กชายที่แต่งงานก่อนวัยทำได้ยากมากในประเทศที่มักมีการปรับเปลี่ยนบันทึกในใบเกิด
ด้านยูนิเซฟรายงานว่ามีจำนวนเด็กหญิงแต่งงานก่อนอายุครบ 18 ปีอยู่ที่ 21 เปอร์เซ็นต์แต่บรรดานักรณรงค์ด้านสิทธิ์เด็กท้องถิ่นยืนยันว่าตัวเลขที่แท้จริงโดยเฉพาะในเขตชนบทอยู่ที่ 60-70 เปอร์เซ็นต์โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง
นักรณรงค์ด้านสิทธิ์เด็กชี้ว่าสาเหตุของปัญหานี้เกิดจากการขาดความรู้ความเข้าใจ ความยากจนและทัศนคติทางสังคมต่อลูกสาวที่มองว่าลูกชายจะเป็นคนหารายได้มาเลี้ยงครอบครัวในขณะที่มองว่าลูกสาวเป็นภาระทางการเงิน
คนทั่วไปไม่สนใจที่จะคิดถึงปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมาจากการเเต่งงานก่อนวัย
คุณ Naseem Akhtar เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ปกป้องเด็กประจำจังหวัด Khyber Pakhtunkwa กล่าวว่าบ่อยครั้งที่เด็กหญิงเสียชีวิตระหว่างคลอดบุตร เด็กหญิงอายุ 13-14 ปี ยังไม่พร้อมทางร่างกายที่จะเป็นแม่ นอกจากนี้ยังไม่พร้อมทางวุฒิภาวะที่จะรับมือกับแม่ยาย น้องสะใภ้หรือพี่สะใภ้ที่ต้องอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวขยาย
ขณะที่การรณรงค์สร้างความตื่นตัวต่อปัญหาการแต่งงานเด็กโดยหน่วยงานรัฐบาลและหน่วยงานเอกชนมีผลดี แต่บรรดานักเรียกร้องสิทธิ์เด็กต่างชี้ว่าการเปลี่ยนแปลงในระยะยาวอย่างแท้จริงยังเป็นไปไม่ได้ หากเด็กผู้หญิงปากีสถานยังขาดสิทธิ์ที่เท่าเทียมด้านการศึกษาและการงาน
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)