ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ตัวสำรอง นักปฏิรูป เผด็จการ: ย้อนดูชีวิตบะชาร์ อัล-อัซซาด ผู้นำซีเรีย


บะชาร์ อัล-อัซซาด ประธานาธิบดีซีเรีย ขณะตอบคำถามผู้สื่อข่าวในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี 2010 (ที่มา:Reuters)
บะชาร์ อัล-อัซซาด ประธานาธิบดีซีเรีย ขณะตอบคำถามผู้สื่อข่าวในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี 2010 (ที่มา:Reuters)

ประธานาธิบดีบะชาร์ อัล-อัซซาดแห่งซีเรียลี้ภัยออกจากประเทศในวันอาทิตย์ ในช่วงเข้าปีที่ 14 ของสงครามกลางเมืองที่หลายชาติเข้ามาร่วมจนเป็นสงครามตัวแทน

ในเวลาต่อมา สื่อ RIA และ TASS ของรัฐบาลรัสเซีย รายงานในวันอาทิตย์ ว่าผู้นำซีเรียอยู่ที่กรุงมอสโก

การโค่นอำนาจของรัฐบาลเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนน่าตกใจ เมื่อกลุ่มต่อต้านที่นำโดยกลุ่มติดอาวุธ ฮายัต ทาห์เรีย อัล-ชาม หรือ HTS (Hayat Tahrir al-Sham) สามารถยึดเมืองอเลปโป เมืองฮามาและเมืองฮอมส์ภายในเวลาเพียงไม่กี่วัน

กลุ่ม HTS มีจุดกำเนิดมาจากกลุ่มอัล-ไคยด้า โดยทั้งสหรัฐฯ และสหประชาชาติ ระบุว่ากลุ่มติดอาวุธนี้เป็นกลุ่มก่อการร้าย

ประชาชนออกมาเฉลิมฉลองตามท้องถนนทั้งในซีเรียและต่างประเทศเมื่อได้ยินข่าวนี้ ซึ่งเป็นภาพที่แตกต่างจากวันที่อัซซาดขึ้นครองอำนาจ ที่ถูกคาดหวังว่าจะเป็นผู้นำหนุ่มนักปฏิรูป แต่ท้ายที่สุดกลับปราบปรามประชาชนและกลุ่มต่อต้านจนความขัดแย้งขยายวงเป็นสงครามที่นำมาสู่การสิ้นสุดอำนาจของตนเอง

เดิมที ฮาเฟซ อัล-อัซซาด พ่อของบะชาร์ ตั้งใจปลุกปั้นให้เบซิล ผู้เป็นลูกชายคนโต สืบทอดอำนาจต่อ ทว่าเบซิลเสียชีวิตในเหตุรถชนเมื่อปี 1994 ทำให้บะชาร์ที่กำลังศึกษาด้านจักษุวิทยาที่กรุงลอนดอนถูกนำตัวกลับมาซีเรีย

ที่ซีเรีย บะชาร์เข้ารับการฝึกทหารและรับยศพันเอกเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและปูพื้นฐานสำหรับการเป็นผู้นำต่อจากพ่อ ที่ปกครองซีเรียยาวนานเกือบ 30 ปี ภายใต้เศรษฐกิจรวมศูนย์แบบโซเวียต และการปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างหนักหน่วง

เมื่อฮาเฟซถึงแก่กรรมเมื่อปี 2000 รัฐสภาซีเรียลงมติลดเกณฑ์อายุผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจาก 40 ลงมาเหลือ 34 ปี เท่ากับอายุของบะชาร์ในเวลานั้น ก่อนขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคบาธ ลงเลือกตั้งแบบไม่มีคู่แข่ง และชนะการเลือกตั้งในที่สุด

เมื่อขึ้นสู่ตำแหน่ง เขาประกาศปล่อยนักโทษการเมือง และเปิดให้มีพื้นที่การแสดงออกมากขึ้น ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นคือ ‘ดามัสกัส สปริง’ หมายถึงการรวมตัวของคนเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนในเรื่องศิลปะ วัฒนธรรม ไปจนถึงการเมือง ต่างไปจากสมัยพ่อที่ชาวซีเรียไม่กล้าแม้แต่จะพูดถึงการเมืองแบบขำขัน

ผู้คนรวมตัวกันในนครอิสตันบูล ประเทศตุรกี หลังรัฐบาลซีเรียสิ้นอำนาจ วันที่ 8 ธันวาคม 2024 (ที่มา:AP)
ผู้คนรวมตัวกันในนครอิสตันบูล ประเทศตุรกี หลังรัฐบาลซีเรียสิ้นอำนาจ วันที่ 8 ธันวาคม 2024 (ที่มา:AP)

ไม่เกินหนึ่งปีหลังจากนั้น มีกลุ่มปัญญาชนลงนามกัน 1,000 คน เรียกร้องให้ซีเรียเป็นประชาธิปไตยแบบหลายพรรคและมีเสรีภาพมากขึ้น ไม่เพียงเท่านั้นยังมีหลายคนยังเริ่มก่อตั้งพรรคการเมือง จนทำให้ตำรวจลับเข้าทลายดามัสกัส สปริง หลายแห่ง

อัซซาดหันเหจากการเปิดพื้นที่การเมืองไปสู่การปฏิรูปเศรษฐกิจด้วยการผ่อนคลายการควบคุมเศรษฐกิจ ให้ธนาคารต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจ เปิดรับการนำเข้าและสนับสนุนภาคเอกชน ทำให้กรุงดามัสกัสค่อย ๆ มีห้างสรรพสินค้าใหม่ ร้านอาหารและสินค้าใหม่ ๆ รวมถึงนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้ามาหลังจากนั้น

ในด้านการต่างประเทศ อัซซาดผู้ลูกมีแนวทางการทูตเหมือนฮาเฟซผู้เป็นพ่อด้วยการเป็นพันธมิตรกับอิหร่านและยืนกรานให้อิสราเอลคืนพื้นที่ของที่ราบสูงโกลันทั้งหมดที่ยึดไปจากซีเรีย แต่บะชาร์ไม่เคยเผชิญหน้ากับรัฐบาลเทลอาวีฟในทางการทหารเลย

รถถังกองทัพอิสราเอลเข้าประชิดพื้นที่ 'อัลฟ่าไลน์' ที่แบ่งระหว่างซีเรีย และที่ราบสูงโกลันที่อิสราเอลยึดครองจากซีเรียไป ภาพถ่ายในวันที่ 8 ธันวาคม 2024 (ที่มา:AP)
รถถังกองทัพอิสราเอลเข้าประชิดพื้นที่ 'อัลฟ่าไลน์' ที่แบ่งระหว่างซีเรีย และที่ราบสูงโกลันที่อิสราเอลยึดครองจากซีเรียไป ภาพถ่ายในวันที่ 8 ธันวาคม 2024 (ที่มา:AP)

เมื่อปี 2005 ซีเรียสูญเสียอำนาจเหนือเลบานอนที่เป็นเพื่อนบ้าน หลังอดีตนายกรัฐมนตรีราฟิก ฮารีรีถูกลอบสังหาร ตามมาด้วยการขึ้นสู่อำนาจของรัฐบาลที่สนับสนุนสหรัฐฯ และความกังขาของชาวเลบานอนจำนวนมากที่สงสัยว่าซีเรียเกี่ยวข้องกับเหตุลอบสังหารดังกล่าว

ในช่วงเวลานั้น โลกอาหรับแบ่งขั้วเป็นสองฝ่าย ได้แก่กลุ่มชาตินิกายสุหนี่ที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ เช่นซาอุดีอาระเบียและอียิปต์ กับอีกกลุ่มก็คือซีเรียและรัฐบาลชีอะห์ของอิหร่าน ที่มีสายสัมพันธ์กับกลุ่มเฮซบอลลาห์และกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์

สำหรับอัซซาด เขาบริหารอำนาจในประเทศตามรอยพ่อบนฐานอำนาจเก่าของกลุ่มมุสลิมนิกายอะละวี ซึ่งเป็นนิกายแยกมาจากนิกายใหญ่แบบชีอะห์ ซึ่งมีจำนวนประชากรคิดเป็น 10% ของซีเรีย

ตำแหน่งระดับนำและใกล้ชิดตัวประธานาธิบดีถูกส่งมอบให้กับสมาชิกครอบครัวอัซซาด อีกหลายตำแหน่งในรัฐบาลถูกส่งต่อให้กับรุ่นลูกของครอบครัวเดิมที่รับใช้อำนาจมาตั้งแต่สมัยอัซซาดผู้พ่อ ขณะเดียวกันกลุ่มชนชั้นกลางใหม่ที่ลืมตาอ้าปากได้จากนโยบายปฏิรูปรวมถึงกลุ่มครอบครัวค้าขายจากนิกายสุหนี่ ก็เข้ามาร่วมในการบริหารประเทศมากขึ้น

อัซซาดมองกระแสลุกฮือของประชาชนที่เรียกกันว่า ‘อาหรับสปริง’ ในปี 2011 ที่โค่นล้มผู้นำในตูนิเซียและอียิปต์ได้สำเร็จในแบบไม่ยี่หระ โดยระบุว่าการปกครองของซีเรียนั้นเข้ากับประชาชนได้มากกว่า โดยในช่วงเวลานั้นเขายังส่งอีเมลแบบขำขัน ล้อเลียนผู้นำอียิปต์ ฮอสนี มูบารัค เรื่องการไม่ยอมลงจากตำแหน่งเสียที

แต่หลังจากมีการลุกฮือแบบเดียวกันในซีเรีย อัซซาดก็ใช้กองกำลังของรัฐปราบปรามประชาชนอย่างทารุณ โดยให้เหตุผลว่าคนกลุ่มดังกล่าวเป็น “ผู้ก่อการร้ายที่มีต่างชาติหนุนหลัง” ที่พยายามบ่อนทำลายการปกครองของประเทศ

ภาพของบะชาร์ อัล-อัซซาด ในเมืองฮามา ที่ใบหน้าถูกทำให้เสียหาย วันที่ 29 กรกฎาคม 2015 (แฟ้มภาพ/Reuters)
ภาพของบะชาร์ อัล-อัซซาด ในเมืองฮามา ที่ใบหน้าถูกทำให้เสียหาย วันที่ 29 กรกฎาคม 2015 (แฟ้มภาพ/Reuters)

วาทะของอัซซาดลักษณะนี้ ไปสร้างแนวร่วมกับชนกลุ่มน้อยในประเทศ เช่นกลุ่มดรูซ กลุ่มคริสเตียน รวมถึงกลุ่มชีอะห์ และสุหนี่ ที่แม้ไม่ชอบระบอบเผด็จการแบบอัซซาด แต่ก็กลัวว่าจะมีรัฐบาลสุหนี่สุดโต่งเข้ามาปกครอง

การประท้วงลุกลามบานปลายเป็นสงครามกลางเมือง จนทำให้ชาวซีเรียหลายล้านคนลี้ภัยไปที่จอร์แดน ตุรกี อิรัก เลบานอน และยุโรป

กลุ่มอัยการและองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กล่าวหาซีเรียว่ามีสถานกักกันของรัฐบาลที่ใช้ทรมานและเข่นฆ่าผู้คนแบบไม่คำนึงถึงฐานความผิด ไม่เพียงเท่านั้น สงครามยังฆ่าประชาชนไปเกือบ 500,000 คน และทำให้มีผู้พลัดถิ่น 23 ล้านคน ซึ่งนับเป็นครึ่งหนึ่งของประชากรในประเทศในช่วงก่อนสงคราม

  • ที่มา: เอพี

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG