ลิ้งค์เชื่อมต่อ

การเรียนออนไลน์ช่วยลดการกลั่นแกล้งในชั้นเรียน


bullying
bullying
please wait

No media source currently available

0:00 0:04:06 0:00

การเปลี่ยนแปลงไปเรียนแบบออนไลน์อย่างรวดเร็ว มีข้อเสียต่างๆ มากมายสำหรับนักเรียน ตั้งแต่เรื่องของความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึง internet ไปจนถึงการที่เด็กๆ ได้เรียนหนังสือน้อยลงและไม่มีโอกาสก้าวหน้าทางการศึกษาเท่าที่ึควร

แต่หลังจากที่เด็กนักเรียนหลายล้านคนเปลี่ยนไปเรียนออนไลน์แบบทันทีทันใด บางคนพบว่ามีข้อดีจนน่าประหลาดใจ เช่นกระบวนการทางสังคมที่ยุ่งยากต่างๆ ก็กลายเป็นเรื่องง่ายหรือบางครั้งก็หายไปเลย โดยตัวอย่างหนึ่งคือการเรียนออนไลน์ช่วยลดการกลั่นแกล้งในชั้นเรียนได้

Stacey Kite ศาสตราจารย์สาขาวิชาศิลปะและวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Johnson & Wales University ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการกลั่นแกล้งกล่าวว่าในช่วงการระบาดใหญ่นี้เธอได้ยินเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ดีของเด็กๆ จนนับไม่ถ้วน เช่นการแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่นที่มีเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้เด็กๆ ที่เคยไม่อยากไปโรงเรียนเพราะถูกรังแกต่างกำลังไปได้ดีในการเรียนออนไลน์ และพวกเขาหาวิธีที่จะเชื่อมโยงกับเพื่อนๆ ผ่านทางวิธีนี้ซึ่งต่อไปอาจเปลี่ยนเป็นมิตรภาพที่แท้จริงก็เป็นได้

Diana Graber ผู้แต่งหนังสือ "Raising Humans in a Digital World" และเป็นผู้ก่อตั้ง Cyber Civics ซึ่งสอนทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิตัลให้แก่เด็กๆ ใน 44 รัฐและใน 7 ประเทศได้สังเกตและได้ยินว่าเด็กๆ ถูกกีดกันน้อยกว่าก่อนที่จะเกิด Covid-19 ตอนนี้พวกเขาต้องพูดคุยโต้ตอบกับเพื่อนนักเรียนออนไลน์หรือในกลุ่มเล็กๆ โดยมีคุณครูคอยดูแล นอกจากนี้เด็กๆ ที่ปกติแล้วเป็นคนขี้อายก็สามารถสื่อสารกับคนอื่นๆ ได้ง่ายกว่าในการเรียนในชั้นเรียน เด็กที่วุ่นวายตลอดเวลาก็สงบลง ทำงานของตัวเองและไม่ทะเลาะกับเด็กคนอื่นๆ


ตัวอย่างเช่นตอนที่ Angelina Fusco ยังเรียนอยู่ในโรงเรียน เธอถูกเพื่อนทั้งหญิงและชายพูดจาส่อเสียด และบอกว่าเธอเป็นคนที่น่ารำคาญ

บ่อยครั้งที่เพื่อนๆ วางแผนทำอะไรต่อมิอะไรกันต่อหน้าโดยที่ไม่ชวนเธอไปด้วย และมักจะมีคำถามว่า ทำไมเธอได้ถึงชอบอ่านหนังสือมากมายนัก? หรือทำไมถึงแต่งตัวแบบนั้น?

Fusco เด็กสาวอายุ 14 ปีบอกว่าเธอมักจะปล่อยให้เพื่อนแกล้งหรือพูดอะไรกับเธอก็ได้ หรือแม้แต่ทำร้ายร่างกายโดยที่เธอไม่เคยโต้ตอบอะไรเลย ที่จริงแล้ว Fusco ชอบการไปโรงเรียน แต่การหามิตรภาพนั้นกลับเป็นเรื่องที่เจ็บปวด ในขณะที่ครูก็พยายามที่จะเข้ามาแทรกแซงเพื่อแก้ไขปัญหาแต่ก็ไม่เป็นผล ในที่สุดเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาเธอก็ไม่อยากที่จะทนอีกต่อไป

ตั้งแต่ก่อนที่โรงเรียนต่างๆ จะถูกสั่งปิดเนื่องจากการเกิดโรคระบาดใหญ่ พ่อแม่ของ Fusco ได้ลงทะเบียนให้เธอเข้าโรงเรียนออนไลน์ที่ชื่อว่า Western Christian Academy ซึ่งช่วยให้เธอสามารถเรียนคนเดียวอย่างสบายๆ ไม่ถูกเพื่อนๆ กลั่นแกล้ง กวนใจ หรือทำให้เสียใจ

นักจิตวิทยาบอกว่า การเรียนออนไลน์ทำให้สิ่งที่เรียกว่า "digital drama" หรือพฤติกรรมแย่ๆ เช่นเดียวกับที่ Fusco เคยประสบมาลดน้อยลงไป เช่นการโพสต์ภาพงานปาร์ตี้บน Instagram ทำให้คนที่ไม่ได้ถูกเชิญรู้สึกไม่ดี รู้สึกว่าถูกกีดกัน บอบช้ำ เศร้าและสับสน พฤติกรรมดังกล่าวอาจลดลงเพราะเด็กไม่ได้อยู่ในบริเวณเดียวกันเพื่อช่วยกันสร้างดราม่าแล้วโพสต์ลงในสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ

สำหรับ Fusco ตอนนี้เธอจะพูดคุยโต้ตอบทางออนไลน์เฉพาะกับคนที่เธอเลือกเท่านั้น

ถึงแม้ว่าเด็กๆ จะไม่ต้องออกไปพบกับโลกที่โหดร้ายของการถูกกลั่นแกล้งตามโรงอาหารหรือในสนามเด็กเล่น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการกลั่นแกล้งทางอินเทอร์เน็ตจะหมดไป หรือเด็กบางคนจะเลิกพฤติกรรมที่โหดร้าย

ปัญหาเรื่อง Online Bullying นั้นยังไม่ได้หมดไปอย่างสมบูรณ์ เพราะยังมีเด็กที่หาวิธีแฮคข้อมูลอีเมลของเพื่อน เพื่อส่งข้อความไปก่อกวนเด็กคนอื่นๆ ซึ่งเป็นวิธีการเรียกร้องความสนใจอย่างหนึ่ง

Graber กล่าวว่าในขณะที่บางคนคาดว่าการเปลี่ยนมาเรียนออนไลน์นั้นจะทำให้มี cyber bullying เพิ่มเป็นทวีคูณแต่ก็ยังไม่พบหลักฐานใดๆ ที่หนักแน่นพอที่จะยืนยันในเรื่องนี้ได้

Fusco บอกว่าตอนนี้เธอรู้จักคนน้อยลง แต่ทุกคนล้วนใจดี มีเมตตาและเป็นคนสนุกสนาน และว่าเธอได้คบค้าสมาคมกับคนที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อตัวเธอเอง

อย่างไรก็ตาม Graber ผู้ก่อตั้ง Cyber Civics กล่าวว่าหากเด็กๆ ประพฤติตัวดีขึ้นในโลกออนไลน์ ผู้ใหญ่ก็ควรจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่ที่เห็นในตอนนี้คือการที่ผู้ใหญ่ใช้คำพูดแสดงความเกลียดชังต่อกันทั้งๆ ที่ควรจะเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่เยาวชน ซึ่งเธอหวังว่าเด็กๆ จะมองดูแล้วทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับผู้ใหญ่

XS
SM
MD
LG