มีการศึกษาที่สะท้อนว่า เพื่อนที่แสนดีของมนุษย์อย่างสุนัข ก็มีความใกล้เคียงกับมนุษย์เรา
ล่าสุด นักวิทยาศาสตร์จากฮังการี ได้ค้นพบว่าสุนัขมีการเรียนรู้ในระหว่างที่นอนหลับ อีกทั้งยังมีภาวะความจำเสื่อมได้เมื่อแก่ตัวลงเหมือนกับมนุษย์
ทีมนักวิทยาศาสตร์ด้านประสาทวิทยา จากมหาวิทยาลัย Budapest ELTE University ในฮังการี ตรวจสอบสุขภาพสมองของสุนัข เจ้าตูบสี่ขาที่เป็นเพื่อนคู่ใจของมนุษย์ 15 ตัว ที่เข้าสู่วัยชราตามอายุขัยของมัน โดยศึกษาคลื่นสมองระหว่างที่พวกมันนอนหลับ 3 ชั่วโมง ซึ่งพบว่าพวกมันมีภาวะ Sleep Spindle หรือช่วงที่คลื่นสมองของพวกมันยังเคลื่อนไหวแม้จะเข้าสู่ช่วงหลับลึกแล้วก็ตาม
Ivaylo Iotchey หนึ่งในทีมวิจัยบอกว่า สำหรับมนุษย์ ภาวะดังกล่าวมีส่วนสำคัญต่อความจำและการรับรู้ และนี่เป็นครั้งแรกที่พบภาวะ Sleep Spindle ในสุนัข ซึ่งสามารถคาดการณ์ทักษะการเรียนรู้ของพวกมันได้
นักวิจัยยังพบความแตกต่างระหว่างสุนัขเพศผู้และเพศเมียด้วย
Iotchey ไขข้อข้องใจว่า สุนัขเพศเมียมีปริมาณ Sleep Spindle ต่อนาทีมากกว่าสุนัขเพศผู้ และทำให้สุนัขเพศเมียเรียนรู้ได้ดีกว่า และจดจำภารกิจได้ดีกว่าด้วย
อีกอย่างที่สุนัขคล้ายกับมนุษย์ คือ เมื่อมันแก่ตัวลง จะเริ่มหลงลืมสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะเวลาที่มีเหตุการณ์หลายอย่างเกิดขึ้นพร้อมๆกัน
Dora Szabo ทีมวิจัยอีกคน บอกว่า ทีมงานได้ลองซ่อนของขวัญไว้ในกระถางต้นไม้ 3 ใบ แล้วลองสลับไปมาเพื่อให้ลองค้นหาว่าของขวัญอยู่ในกล่องไหน ปรากฏว่าพวกมันสับสนอย่างมากเมื่อเราสลับกระถางไปมา
การทดสอบนี้สะท้อนว่าศักยภาพของสุนัขในการเรียนรู้และจดจำจะลดลง และเริ่มแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนได้ลำบากขึ้นเมื่อเจอสถานการณ์หลายอย่างพร้อมกันเมื่อมีอายุมากขึ้น
Eniko Kubinyi นักวิจัยอาวุโส เพิ่มเติมว่า กว่า 2 ใน 3 ของสุนัขที่อายุมากจะเริ่มส่งสัญญาณของภาวะความจำเสื่อม ซึ่งคล้ายกับภาวะความจำเสื่อมของมนุษย์
ทีมวิจัยของฮังการีไม่เพียงแต่ศึกษาการเปลี่ยนแปลงของสุนัขที่อายุมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังปูทางสู่การเรียนรู้ระบบการรับรู้ของมนุษย์เมื่อแก่ตัวลงด้วยเช่นกัน