เมื่อถึงเวลาที่คนทำงานทั่วโลกต้องกลับไปทำงาน พวกเขาอาจจะพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดขึ้นมากมายอันเนื่องมาจากการเกิดโรคระบาดใหญ่ครั้งนี้ อย่างแรกคือจะมีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ได้กลับไปทำงานในออฟฟิส เพราะการทำงานจากที่บ้านจะเป็นที่ยอมรับมากขึ้น และบริษัทต่างๆ ก็กำลังชั่งน้ำหนักระหว่างการประหยัดค่าเช่าและค่าน้ำค่าไฟ เทียบกับประสิทธิภาพในการทำงานหากทำงานจากที่บ้าน
นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะเริ่มต้นจากการเดินทางไปทำงาน เนื่องจากพนักงานจะมาถึงที่ทำงานในเวลาที่ต่างกันเพื่อหลบเลี่ยงความแออัดในชั่วโมงเร่งด่วน พนักงานอาจต้องสลับวันทำงานเพื่อลดความแออัดในออฟฟิส มีการทำเครื่องหมายบนพื้นหรือใช้เซ็นเซอร์ระบบดิจิตอลเพื่อเตือนผู้คนให้อยู่ห่างกัน และอาจนำวิธีการแบ่งห้องทำงานออกเป็นห้องเล็กๆ กลับมาใช้อีกครั้ง
John Furneaux CEO ของ Hive ซึ่งเป็นบริษัท Startup ด้านซอฟต์แวร์ในที่ทำงานในนครนิวยอร์คกล่าวว่า เหตุการณ์นี้จะเป็นการเร่งปฏิกิริยาให้เราทำในสิ่งที่ไม่เคยกล้าทำมาก่อน และยังเป็นแรงผลักดันให้สามารถเปลี่ยนแปลงแนวทางจากการทำงานในศตวรรษเก่าอีกด้วย
Furneaux กล่าวว่า Hive วางแผนที่จะช่วยให้พนักงานหลีกเลี่ยงการเดินทางด้วยรถไฟใต้ดินในชั่วโมงเร่งด่วน โดยเริ่มจากการให้มาทำงานในเวลาที่ต่างกัน ส่วนที่ประเทศอังกฤษ รัฐบาลกำลังพิจารณาให้นายจ้างใช้วิธีเดียวกัน
สำหรับในบริษัทขนาดใหญ่ บรรดาผู้บริหารระดับสูงต่างกำลังคิดทบทวนเกี่ยวกับการยัดเยียดให้พนักงานจำนวนมากทำงานอยู่ในออฟฟิสเดียวกันในใจกลางเมือง Jes Staley CEO ของธนาคารบาร์เคลย์ ที่ประเทศอังกฤษกล่าวว่า ทางธนาคารกำลังปรับเปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับสถานที่ตั้งของสำนักงานในระยะยาว แนวคิดในการให้คนงาน 7,000 คนทำงานในอาคารเดียวกันอาจกลายเป็นเรื่องของอดีตไป
เรื่องดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นแล้วในประเทศจีน ซึ่งเมื่อกักตัวเองอยู่ที่บ้านเริ่มผ่อนคลายลงเมื่อเดือนมีนาคม หน่วยงานเทศบาลกรุงปักกิ่งได้จำกัดจำนวนคนในแต่ละสำนักงานให้ไม่เกิน 50% ของจำนวนพนักงานตามปกติ พร้อมทั้งมีนโยบายให้พนักงานในออฟฟิศสวมหน้ากากอนามัย และนั่งห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร (3.3 ฟุต)
อย่างน้อยที่สุดวิกฤตโควิด-19 นี้อาจกลายเป็นสัญญาณเตือนภัยในเรื่องของการแบ่งพื้นที่สำนักงานในปัจจุบัน เช่นการใช้พื้นที่ทำงานร่วมกันตามบริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีทั้งหลาย เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นกันเองและมีความสร้างสรรค์ แต่ตอนนี้ต้องนำวิธีการแบ่งสำนักงานเป็นห้องเล็กๆ หรือใช้ฉากกั้นกลับมาอีกครั้ง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส
ส่วนบริษัท ออกแบบ Bergmeyer กำลังติดตั้งฉากกั้นแบ่งบนโต๊ะทำงาน 85 ตัวที่เคยถูกรื้อออกไปเมื่อหลายปีก่อนในสำนักงานที่นครบอสตัน วิธีนี้จะคืนความเป็นส่วนตัวและสร้างความปลอดภัยให้กับโต๊ะทำงานของแต่ละคน ส่วน Google และ Facebook ก็บอกแล้วว่าพนักงานจะสามารถทำงานจากที่บ้านได้จนถึงสิ้นปี ส่วนบริษัทอื่นๆ ก็ตระหนักว่าพวกเขาไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่ในที่ทำงานด้วยซ้ำไป
คาดว่าเทรนด์การทำงานจากที่บ้านนี้จะยังคงดำเนินต่อไป แม้ว่าการเกิดโรคระบาดใหญ่จะสิ้นสุดลงแล้วก็ตาม ซึ่งคาดว่าจะมีพนักงาน 41% ทำงานจากที่บ้าน หรืออย่างน้อยก็ทำเป็นครั้งคราว เพิ่มขึ้นจาก 30% ก่อนที่จะเกิดโรคระบาด