ผลการศึกษาวิจัยที่เพิ่งเผยแพร่ออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ ระบุว่าคนที่เกิดหลังปี ค.ศ. 1942 หรือ พ.ศ. 2485 มีเชื้อพันธุ์ที่ทำให้อ้วน แต่ผู้ที่เกิดก่อนหน้านั้นไม่มี
ทีมนักวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย Harvard และโรงพยาบาล Massachusetts General ในนคร Boston วิเคราะห์การเชื่อมโยงระหว่างเชื้อพันธุ์กับปัจจัยในสิ่งแวดล้อมสำหรับความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอ้วน ด้วยการติดตามดูอาสาสมัครมากกว่าหนึ่งหมื่นคนในโครงการศึกษาโรคหัวใจที่เมือง Framingham ในรัฐ Massachusetts ติดต่อกันเป็นเวลาหลายสิบปี
นักวิจัยดูปัจจัยต่างๆ ในสิ่งแวดล้อม รวมทั้งดัชนีมวลกาย (Body Mass Index หรือ BMI) ของบิดามารดา ลงไปจนถึงคนชั้นลูกและหลาน การศึกษานี้ยังอ้างอิงผลการวิจัยก่อนหน้าที่ระบุว่า ความแตกต่างของเชื้อพันธุ์ไขมันมวลและโรคอ้วนสัมพันธ์ (Fat Mass and Obesity Associated หรือ FTO) นั้น มีความเชื่อมโยงกับแนวโน้มที่จะเป็นโรคอ้วนด้วย
ผลการวิจัยล่าสุดนี้ บ่งชี้ว่า เชื้อพันธุ์ของสองในสามของเด็กรุ่นลูกมากกว่าห้าพันคน แสดงให้เห็นความแตกต่างที่ทำให้เด็กเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคอ้วน นักวิจัยลงความเห็นเช่นนี้ได้ เพราะมีเชื้อพันธุ์ของบิดามารดา ซึ่งร่วมอยู่ในโครงการเหมือนกัน มาเปรียบเทียบดูได้
และเมื่อนำดัชนีมวลกายของแต่ละคนไปเทียบกับปีที่เกิด นักวิจัยไม่พบความเชื่อมโยงระหว่างเชื้อพันธุ์ FTO กับผู้ที่เกิดก่อนปีค.ศ. 1942 หรือ พ.ศ. 2485 แต่มีความเชื่อมโยงอย่างแข็งขันระหว่างเชื้อพันธุ์ FTO กับโรคอ้วนในหมู่ผู้ที่เกิดหลังจากนั้น
แต่ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่า ผลงานวิจัยกำลังเริ่มแสดงให้เห็นว่า การมีเชื้อพันธุ์โรคอ้วนเพียงอย่างเดียว ไม่ได้หมายความว่าโดยอัตโนมัติว่า เจ้าของเชื้อพันธุ์นั้นจะเป็นโรคอ้วน หากแต่เป็นผลของการผสมผสานระหว่างเชื้อพันธุ์กับปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่น อาหารที่รับประทานและการไม่ออกกำลังกายมากกว่า
รายงานการวิจัยฉบับนี้ตีพิมพ์ไว้ในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences