นักวิจัยพิจารณา คำถามมากมายเกี่ยวกับโรคอ้วน เช่น น้ำหนักที่เกินมาตรฐานจะทำให้สมองในส่วนควบคุมและยับยั้งตนเองเล็กลงหรือไม่ โรคอ้วนเป็นผลจากสมองที่แตกต่างกัน หรือแค่พฤติกรรมการบริโภค การใช้ชีวิต สภาพครอบครัว หรือจริงๆ แล้วเป็นผลจากพันธุกรรม
การศึกษาล่าสุดในกลุ่มเยาวชนที่ประเทศสหรัฐฯ ชี้ให้เห็นว่า ยังคงมีความไม่แน่นอนในคำอธิบายโรคอ้วนด้วยขนาดของสมอง
สำนักข่าว AP รายงานผลการศึกษาระยะยาวในกลุ่มตัวอย่างจำนวนมากที่สุดในด้านพัฒนาการสมองและสุขภาพของเด็ก เพื่อค้นหาความสัมพันธ์ระหว่างโรคอ้วนและการทำงานของสมอง ล่าสุดผลลัพธ์ยังไม่ชี้ชัด โดยผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าต้องวิเคราะห์ผลการศึกษาอย่างระมัดระวัง
ในบทบรรณาธิการที่ตีพิมพ์ในวารสารด้านสุขภาพของเด็กและเยาวชน JAMA Pediatrics ได้กล่าวถึงการศึกษาที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เพื่อเรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างน้ำหนัก โครงสร้างสมองและสุขภาพจิต โดยได้คัดเลือกเด็กชาวอเมริกันอายุ 9-10 ปีจำนวน 3,190 คน จำนวนนี้กำหนดให้มีเด็กที่น้ำหนักเกินมาตรฐานราว 1,000 คนเพื่อให้สอดคล้องกับสถิติตัวเลขประชากรน้ำหนักเกินในประเทศสหรัฐฯที่อยู่ในอัตรา 1 ใน 3 การศึกษานี้เก็บข้อมูลจากการชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง ตรวจสมองด้วยวิธี MRI และให้ทำแบบทดสอบผ่านคอมพิวเตอร์เพื่อวัดศักยภาพด้านความจำ ความสามารถทางภาษา ตรรกะความคิด และการควบคุมความต้องการของตนเอง
แพทย์หญิง Eliana Perrin ศาสตราจารย์ด้านกุมารเวชศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Duke University ผู้ร่วมเขียนในบทบรรณาธิการดังกล่าว อธิบายว่า “เราไม่รู้ว่าความสัมพันธ์ของโรคอ้วนและสมองจะไปในทิศทางใด และเราก็ไม่ได้บอกว่าคนที่เป็นโรคอ้วนจะไม่ฉลาดเท่ากับคนที่มีน้ำหนักในระดับมาตรฐาน”
ผลจากการสแกนสมองในเด็กกลุ่มที่มีน้ำหนักตัวมาก พบความแตกต่างเล็กน้อยในความหนาแน่นของสมองส่วนหน้า ซึ่งสมองบริเวณนี้จะทำหน้าที่ควบคุมทักษะด้านการจัดการ หรือ Executive Function ยกตัวอย่างเช่น การวางแผน รู้จักยับยั้งความต้องการของตนเอง และการทำหลายกิจกรรมในเวลาเดียวกัน ประกอบกับกลุ่มเด็กที่มีน้ำหนักตัวมากนี้ ยังได้คะแนนที่ด้อยกว่าเล็กน้อยจากแบบทดสอบในส่วนคำถามด้านทักษะการจัดการ
Scott Mackey นักประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัย University of Vermont เจ้าของการศึกษานี้ระบุว่า ผลที่ได้มามีความแตกต่างที่ไม่ชัดเจนนัก ระหว่างเด็กทั้งสองกลุ่ม ผลลัพธ์ดังกล่าวไม่สามารถใช้ชี้วัดความสามารถหรือพฤติกรรมทางด้านการเรียนรู้
เขาเชื่อว่าน้ำหนักเป็นปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ในการเคลื่อนไหวออกแรงและโภชนาการที่เหมาะสมมากกว่า แต่ปัจจัยเหล่านี้ไม่ได้ถูกนำมาวิเคราะห์ในงานวิจัยนี้
อย่างไรก็ดี การศึกษานี้ทำให้เกิดความสนใจว่า “การอักเสบ” ของเซลล์ที่อาจเกิดในวัยเด็ก ส่งผลต่อน้ำหนักตัว โครงสร้างและการสั่งการของสมอง
เคยมีผลการศึกษา “โรคอ้วน” ในกลุ่มผู้ใหญ่ ชี้มีความเกี่ยวข้องก่อให้เกิดภาวะการอักเสบอ่อนๆของเซลล์ทั่วทั้งร่างกาย ซึ่งจะทำให้หลอดเลือดเกิดความเสียหาย เพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจและมีสุขภาพจิตที่ถดถอย ในบางการศึกษานักวิจัยเชื่อว่าการอักเสบส่งผลให้ สมองของผู้ใหญ่ที่มีโรคอ้วนมีมวลความหนาแน่นที่น้อยลง
ทางด้าน Natasha Schvey นักวิจัยโรคอ้วน จากมหาวิทยาลัย Uniformed Services University คณะวิทยาศาสตร์สุขภาพ ชี้ว่าพฤติกรรมการบริโภคและโรคอ้วนเป็นผลมาจากหลายปัจจัย เช่นระบบเผาผลาญและจิตวิทยาในหลายๆ ด้าน เธอกล่าวว่า “จากหลายๆ งานวิจัยเรื่องโรคอ้วน เราอาจบอกได้ว่ามันไม่ใช่แค่การควบคุมตัวเองของแต่ละบุคคล บ้างอาจจะบอกว่าเป็นเรื่องความพยายามและความตั้งใจ แต่มันก็เป็นแค่ส่วนเล็กๆ ของภาพรวมทั้งหมด”
Schvey ยังบอกอีกว่า “ยังมีสิ่งที่กำหนดน้ำหนักของคนเรา และส่วนสำคัญคือเรื่องของพันธุกรรม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นเช่นนี้ตลอดไป”