ในช่วงระหว่างวันที่ 31 มีนาคมถึง 1 เมษายนนี้ จะมีการประชุมสุดยอดเรื่องความมั่นคงทางนิวเคลียร์ที่กรุงวอชิงตัน ประเด็นสำคัญของการประชุมซึ่งจัดให้มีขึ้นทุกๆ สองปีนี้ นอกเหนือไปจากการหารือถึงวิถีทางที่จะลดการใช้ยูเรเนียมสมรรถนะสูงให้น้อยลง เก็บรักษาวัสดุนิวเคลียร์ให้มั่นคงปลอดภัย และป้องกันการลักลอบการค้าวัสดุนิวเคลียร์และการก่อการร้ายแล้ว
ประเด็นสำคัญที่เพิ่มขึ้นเป็นวาระพิเศษสำหรับการประชุมครั้งนี้ คือการป้องกันมิให้อาวุธหรือวัสดุนิวเคลียร์ตกไปอยู่ในมือของกลุ่มผู้ก่อการร้าย เช่นกลุ่มรัฐอิสลาม (IS) ได้
นาย Josh Earnest โฆษกทำเนียบ White House กล่าวย้ำความสำคัญในเรื่องนี้ ในขณะที่นักวิเคราะห์อย่าง Michelle Cann ของ Partnership for Global Security ให้ความเห็นว่า มีความเป็นไปได้ว่าผู้ก่อการร้ายจะหาวัสดุนิวเคลียร์มาไว้ในความครอบครอง มากกว่าจะหาอาวุธนิวเคลียร์ได้
นักวิเคราะห์ผู้นี้กล่าวต่อไปว่า ผู้ก่อการร้ายไม่จำเป็นจะต้องมีอาวุธนิวเคลียร์เพื่อที่จะก่อปัญหาให้กับผู้คนทั่วโลก เพียงแต่มีวัสดุนิวเคลียร์มาผสมกับระเบิดแสวงเครื่องก็สามารถทำความเสียหายได้อย่างใหญ่หลวงแล้ว
และแม้นักวิเคราะห์ของ Partnership for Global Security ผู้นี้ จะบอกว่า มีความก้าวหน้าในความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อลดระดับภัยคุกคามจากอาวุธนิวเคลียร์ โดยมีการเก็บรักษายูเรเนียมสมรรถนะสูงและพลูโทเนียมได้แล้วมากกว่า 1500 กิโลกรัม และอีก 12 ประเทศเวลานี้ปลอดยูเรเนียมสมรรถนะสูงมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2010 แล้ว ในขณะที่ได้มีการสร้างศูนย์ขึ้นตามประเทศต่างๆ เพื่อให้การศึกษาและการฝึกอบรมในเรื่องนี้
แต่บรรดาผู้นำประเทศต่างๆ ที่จะไปร่วมการประชุมสุดยอดครั้งนี้ มีความวิตกกังวลมากกว่าเกี่ยวกับผู้ก่อการร้ายในประเทศ เช่น ปากีสถาน และภัยคุกคามทางนิวเคลียร์จากเกาหลีเหนือ
ปีนี้รัสเซียปฏิเสธที่จะไปร่วมการประชุม โดยให้เหตุผลว่าการประชุมเช่นนี้ไม่มีประโยชน์อีกต่อไปแล้ว
นาย Frank Miller อดีตเจ้าหน้าที่สภาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐ ให้ความเห็นว่า รัฐบาลรัสเซียและจีนไม่เคยเห็นด้วยกับระเบียบวาระกว้างๆ ของที่ประชุมฯ และจริงๆ แล้ว ทั้งสองประเทศกำลังคิดจะปรับปรุงและขยายคลังแสงนิวเคลียร์ของตนในจังหวะที่แตกต่างไปจากบรรดาประเทศต่างๆ ในตะวันตกด้วย
การประชุมสุดยอดเรื่องความมั่นคงทางนิวเคลียร์ครั้งนี้ จะเป็นครั้งที่สี่และครั้งสุดท้ายของประธานาธิบดี Barack Obama
สหรัฐฯ จะมีประธานาธิบดีคนใหม่ในเดือนมกราคมปีหน้า และคำถามที่ยังต้องรอคำตอบต่อไปจนกว่าจะถึงวันนั้น คือทิศทางในอนาคตของความพยายามร่วมกันของนานาชาติในเรื่องนี้ ว่าจะดำเนินต่อไปอย่างไร?
ทำเนียบ White House กล่าวไว้ว่า เป้าหมายของการประชุมปีนี้ คือทำให้เครือข่ายระหว่างประเทศขององค์กรต่างๆ มีความเข้มแข็งมากขึ้น เพื่อให้ทำงานรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์ได้ต่อไป