สิ่งมีชีวิตพันธุ์ต่างถิ่น หรือที่เรียกว่า Alien Species คือพืชหรือสัตว์ที่มนุษย์นำพาไปยังที่ต่างๆ ทั่วโลกที่ไม่ใช่แหล่งธรรมชาติ การนำพืชหรือสัตว์พันธุ์ต่างถิ่นเข้าไปยังพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งนั้น บางครั้งก็เป็นเรื่องบังเอิญ แต่บางครั้งก็ทำไปเพราะมีวัตถุประสงค์
การวิจัยแสดงให้เห็นว่าการย้ายถิ่นฐานของพืชและสัตว์เพิ่มขึ้นทั่วโลกในช่วงศตวรรษที่ผ่านมาเนื่องจากการค้าและการเดินทางของมนุษย์ได้เปิดเส้นทางใหม่ๆ ไปทั่วโลก
การศึกษาครั้งใหม่คาดการณ์ว่าการโยกย้ายดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไป โดยสัตว์ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมากที่สุดคือสัตว์จำพวกแมลงขนาดใหญ่ นก และสิ่งมีชีวิตในน้ำขนาดเล็กเช่นหอยและกุ้ง
อย่างไรก็ดี นักวิจัยกำลังเรียกร้องให้มีกฎเกณฑ์เพิ่มเติมและวิธีสังเกตการณ์ที่ดีขึ้นเพื่อช่วยลดการแพร่กระจายของสายพันธุ์ต่างถิ่นเหล่านี้
นักวิทยาศาสตร์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษานี้กล่าวว่า รายงานล่าสุดเกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อปีพ.ศ. 2548 ได้มีการระบุสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นมากกว่า 35,000 ชนิด บางชนิดสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งหมายความว่าเป็นการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วด้วยวิธีที่ไม่พึงประสงค์และยังเป็นอันตรายอีกด้วย
การศึกษาชี้ให้เห็นว่าพืชและสัตว์พันธุ์ต่างถิ่นจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นในทุกทวีปทั่วโลก แต่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมากที่สุดในทวีปยุโรป ซึ่งนักวิจัยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 64% ทั่วยุโรปภายในปีพ.ศ. 2593
Hanno Seebens นักนิเวศวิทยาที่ศูนย์วิจัย Senckenberg Biodiversity and Climate Research Center ของเยอรมนี ซึ่งเป็นหัวหน้าการศึกษานี้กล่าวว่า สถานการณ์ดังกล่าวนี้บวกกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน ทำให้สิ่งมีชีวิตต่างถิ่นที่รุกล้ำเข้ามาในพื้นที่อาจก่อให้เกิดภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่งต่อความหลากหลายทางชีวภาพ
เขากล่าวเสริมด้วยว่าสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งๆ จะเดินทางเข้ามายังถึงพื้นที่ใหม่ได้ก็ต่อเมื่อกิจกรรมของมนุษย์มีความเชื่อมโยงกับพื้นที่นั้นๆ กล่าวคือเมื่อมนุษย์ขยายเครือข่ายการค้า ก็จะเป็นการเชื่อมโยงหลายๆ พื้นที่เข้าด้วยกัน ทำให้พืชและสัตว์ต่างถิ่นสามารถเข้ามาในบริเวณเหล่านั้นได้มากขึ้น
ทั้งนี้นักวิจัยได้พัฒนาแบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่อคาดการณ์การที่สิ่งมีชีวิตจากต่างถิ่นเดินทางเข้ามายังแต่ละทวีประหว่างปีพ.ศ. 2548 ถึงพ.ศ. 2593 แบบจำลองนี้อิงข้อมูลจากสถิติในอดีตที่ผ่านมาเกี่ยวกับการที่สิ่งมีชีวิตโยกย้ายถิ่นฐาน ตลอดจนการประเมินสายพันธุ์ที่อาจกลายเป็นผู้รุกล้ำหากการสถานการณ์ในปัจจุบันยังคงดำเนินอยู่ต่อไป
Cascade Sorte ศาสตราจารย์ด้านนิเวศวิทยาและชีววิทยาวิวัฒนาการที่มหาวิทยาลัย University of California Irvine ซึ่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษาวิจัยนี้กล่าวว่า เราทราบดีว่าจำนวนของสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ต่างถิ่นส่วนหนึ่งจะทำให้เกิดปัญหา ดังนั้นยิ่งมีจำนวนมากเท่าไหร่โอกาสที่จะมีปัญหาก็จะยิ่งสูงมากขึ้นเท่านั้น และว่าแม้ว่าพืชและสัตว์ต่างถิ่นจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นมาแล้วก่อนหน้านี้ แต่ตอนนี้มีความเป็นไปได้ที่สิ่งต่างๆ จะเลวร้ายลงไปกว่าเดิม
อย่างไรก็ตาม Hanno Seebens จากศูนย์วิจัย Senckenberg Biodiversity and Climate Research Center กล่าวว่าจำนวนสิ่งมีชีวิตจากต่างถิ่นอาจลดลงได้ในอนาคต หากยังมีโยกย้ายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทำให้สายพันธุ์เหล่านั้นย้ายถิ่นฐานกันไปจนหมดแล้ว