ลิ้งค์เชื่อมต่อ

เส้นทางสู่กองทัพโฉมงาม “ทีมเชียร์ลีดเดอร์เกาหลีเหนือ”


In this 2005 photo, North Korea's female cheerleaders, including a woman (right) believed to be North Korean leader Kim Jong-Un's current wife Ri Sol-Ju, attend the 2005 Asian Athletics Championships in Incheon.
In this 2005 photo, North Korea's female cheerleaders, including a woman (right) believed to be North Korean leader Kim Jong-Un's current wife Ri Sol-Ju, attend the 2005 Asian Athletics Championships in Incheon.

เมื่อมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว เวียนมาจัดในเกาหลีใต้ หลายฝ่ายก็จับตาท่าทีระหว่าง 2 เกาหลีที่ตึงเครียดตั้งแต่การแข่งขันยังไม่เริ่ม ทั้งการส่งทัพนักกีฬาเข้าแข่งขัน การแสดงวัฒนธรรมร่วม 2 เกาหลี และล่าสุด คือ การเคลื่อนไหวของทีมเชียร์ลีดเดอร์เกาหลีเหนือ

ในปีนี้ เกาหลีเหนือส่งทีมเชียร์ลีดเดอร์สาว 230 ชีวิต ที่ถูกขนามนามว่า กองทัพโฉมงาม เข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวที่เกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพ ซึ่งจะเริ่มขึ้นในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ถึง 25 กุมภาพันธ์นี้ ที่พยองชาง เกาหลีใต้ ซึ่งจะถือเป็นครั้งที่ 3 ที่เกาหลีเหนือยอมส่งกองทัพโฉมงามมาเยือนเกาหลีใต้ และกลายเป็นที่จับตามองมากกว่าทัพนักกีฬาที่เกาหลีเหนือส่งมาเข้าร่วมการแข่งขันเสียอีก

ที่ผ่านมา สาวเชียร์ลีดเดอร์ที่โด่งดังที่สุด เห็นจะเป็นอดีตเชียร์ลีดเดอร์ รี โซล จู ภริยาผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ คิม จอง อึน ซึ่งในช่วงที่เธออายุ 16 ปี ได้เดินทางไปเข้าร่วมมหกรรมกีฬาชิงแชมป์เอเชียที่อินชอน เมื่อปี 2548 ในฐานะเชียร์ลีดเดอร์

ทีมเชียร์ลีดเดอร์เกาหลีเหนือนั้นเปรียบเสมือนตัวแทนประเทศ ที่ต้องผ่านการคัดเลือกอย่างพิถีพิถัน ต้องเป็นสาวสวยหุ่นดี ส่วนสูง 160 เซนติเมตรขึ้นไป ส่วนใหญ่จะถูกคัดเลือกมาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ ที่สำคัญเมื่อได้รับการคัดเลือกแล้ว พวกเธอจะถูกตรวจสอบอย่างละเอียดว่าไม่มีญาติพี่น้องหรือครอบครัวที่อาศัยอยู่ต่างประเทศ หรือมีประวัติแปรพักตร์หรือฝักใฝ่ชาติอื่น

หลังจากผ่านการคัดเลือกแล้ว สาวๆ เชียร์ลีดเดอร์เหล่านี้จะต้องเข้ารับการอบรมด้านอุดมการณ์ เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเธอจงรักภักดีต่อเกาหลีเหนือและผู้นำสูงสุด คิม จอง อึน ในฐานะที่พวกเธอคือหน้าตาของประเทศ

บรรดาผู้แปรพักตร์ หรือ บุคคลที่หลบหนีออกจากเกาหลีเหนือ ได้แสดงความกังวลถึงการเคลื่อนไหวของเชียร์ลีดเดอร์เกาหลีเหนือหลายร้อยชีวิต ที่เข้ามาสร้างสีสันในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาว ท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดระหว่าง 2 เกาหลีที่ทวีความรุนแรงขึ้นตลอด 2 ปีที่ผ่านมา

ฮัน โซ ฮี อดีตเชียร์ลีดเดอร์เกาหลีเหนือผู้แปรพักตร์ ที่เคยเข้าร่วมการแข่งขันเอเชียนเกมส์ เมื่อปี 2002 ที่เมืองปูซาน บอกว่า การส่งสาวๆ เหล่านี้ไปต่างแดน เท่ากับการให้ทำภารกิจสำคัญในการชนะใจศัตรูด้วยความงดงามของพวกเธอ

ประเด็นนี้ตรงกับที่นักวิเคราะห์ทางการเมืองเกาหลีเหนือกังวล เพราะความสวยสดใสดูสุขภาพดีของพวกเธอนั้น บิดเบือนสภาพความเป็นอยู่จริงของคนเกาหลีเหนือที่ส่วนใหญ่ยากจน

และมีรายงานขององค์การสหประชาชาติเมื่อปี 2557 ที่พบการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรงในเกาหลีเหนือ

อย่างไรก็ตาม คิม ชอล วูง นักเปียโนจากมหาวิทยาลัยการดนตรีเปียงยางผู้แปรพักตร์เมื่อ 16 ปีก่อน บอกว่า เหล่าเชียร์ลีดเดอร์ได้สร้างความสนใจในสายตาชาวโลก และทุกท่าทีของพวกเธอ จะเป็นการประชาสัมพันธ์เกาหลีเหนือได้ดี และเป็นหมากสำคัญในเกมการเมืองเสียด้วย

XS
SM
MD
LG