หน่วยงานด้านสุขภาพของสหประชาชาติกล่าวว่าเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบไม่ควรใช้เวลาบนหน้าจอนานกว่า 1 ชั่วโมงในแต่ละวัน หรือถ้าน้อยกว่านั้นได้ยิ่งดี
แนวทางปฏิบัติขององค์การอนามัยโลกนี้ค่อนข้างคล้ายกับคำแนะนำจากสถาบันกุมารแพทย์อเมริกัน หรือ American Academy of Pediatrics ที่แนะนำให้เด็กทารกที่อายุต่ำกว่า 18 เดือนหลีกเลี่ยงการใช้หน้าจออื่นๆ นอกเหนือจากวิดีโอแชท และผู้ปกครองของเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ขวบควรเลือกโปรแกรมคุณภาพสูงที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาที่เด็กสามารถดูได้พร้อมกับผู้ปกครอง เพื่อช่วยให้เด็กเข้าใจสิ่งที่พวกเขากำลังดูอยู่
แต่ Andrew Przybylski ผู้อำนวยการวิจัยของสถาบัน Oxford Internet Institute ที่มหาวิทยาลัยOxford กล่าวว่าคำแนะนำเรื่อง Screen Time ของ WHO นั้นมุ่งเน้นไปในเรื่องของการใช้เวลาที่หน้าจอมากเกินไป โดยที่ไม่ได้คำนึงประโยชน์จากเนื้อหาของสื่อดิจิตัลเหล่านั้น หรือบริบทของการใช้
ส่วนวิทยาลัยกุมารแพทย์ Royal College of Paediatrics and Child Health ในประเทศอังกฤษกล่าวว่าข้อมูลที่มีอยู่นั้นยังอ่อนเกินไปที่จะให้ผู้เชี่ยวชาญสามารถกำหนดเกณฑ์สำหรับ Screen Time ที่เหมาะสมได้
ดร. Max Davie เจ้าหน้าที่ด้านการพัฒนาสุขภาพของวิทยาลัยนี้กล่าวอีกว่า งานวิจัยของทางวิทยาลัยยังแสดงให้เห็นว่าในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะสนับสนุนการกำหนด Screen Time และการจำกัดเวลาตามแนวทางขององค์การอนามัยโลกนั้นดูเหมือนจะไม่ได้สัดส่วนกับอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น
องค์การอนามัยโลกไม่ได้ระบุรายละเอียดของอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการมี Screen Time มากเกินไป แต่กล่าวว่าแนวทางปฏิบัติดังกล่าวซึ่งรวมถึงคำแนะนำสำหรับการออกกำลังกายและการนอนหลับนั้น มีความจำเป็นต่อการแก้ปัญหาพฤติกรรมการนั่งติดอยู่กับที่ของประชากรทั่วๆ ไป และตั้งข้อสังเกตว่าการไม่เคลื่อนไหวร่างกายทำให้เกิดปัจจัยเสี่ยงต่อการเสียชีวิต และเป็นสาเหตุที่ทำให้เป็นโรคอ้วนกันมากขึ้นด้วย
นอกจากนี้ยังมีคำแนะนำว่าทารกที่อายุน้อยกว่า 1 ขวบควรนอนคว่ำอย่างน้อยวันละครึ่งชั่วโมง และเด็กโตควรมีกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายอย่างน้อยวันละสามชั่วโมง