ลิ้งค์เชื่อมต่อ

คู่ธุรกิจเหล็กสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น ยื่นฟ้องรัฐบาลไบเดนกรณีสกัดดีลซื้อขายกิจการ $1.5 หมื่นล้าน


แฟ้มภาพ - ส่วนหนึ่งของโรงงานของบริษัท ยูเอส สตีล ในรัฐเพนซิลเวเนีย
แฟ้มภาพ - ส่วนหนึ่งของโรงงานของบริษัท ยูเอส สตีล ในรัฐเพนซิลเวเนีย

บริษัท นิปปอน สตีล (Nippon Steel) ของญี่ปุ่นและบริษัท ยูเอส สตีล (U.S. Steel) ร่วมกันยื่นฟ้องรัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ดำเนินการสกัดการเดินหน้าซื้อกิจการของธุรกิจเหล็กสัญชาติอเมริกันโดยบริษัทญี่ปุ่นที่มีมูลค่าเกือบ 15,000 ล้านดอลลาร์

รายงานข่าวระบุว่า ทั้งสองบริษัทคู่ค้านี้ได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลอุทธรณ์ในกรุงวอชิงตันในวันจันทร์ โดยอ้างว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการตัดสินใจที่มีจุดประสงค์ทางการเมืองและเป็นการละเมิดกระบวนการทางกฎหมาย (due process) ที่ทั้งสองบริษัทดำเนินการมา

ภายใต้ข้อตกลงที่สะดุดนี้ นิปปอน สตีล ยังสัญญาที่จะลงทุนเป็นเงินมูลค่า 2,700 ล้านดอลลาร์ในกิจการเตาหลอมที่เก่าแก่เสื่อมโทรมของ ยูเอส สตีล ที่ตั้งอยู่ในเมืองแกรี (Gary) รัฐอินเดียนา และที่เขต มอนแวลลีย์ (Mon Valley) ในรัฐเพนซิลเวเนีย โดยยังประกาศด้วยว่า จะไม่ทำการลดกำลังการผลิตในสหรัฐฯ ในช่วงทศวรรษข้างหน้า ถ้าไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลสหรัฐฯ เสียก่อน

แฟ้มภาพ - การชุมนุมของพนักงานบริษัท ยูเอส สตีล ที่ใจกลางเมืองพิตต์สเบิร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย เมื่อ 4 ก.ย. 2567 เพื่อสนับสนุนการเข้าซื้อกิจการโดยบริษัท นิปปอน สตีล
แฟ้มภาพ - การชุมนุมของพนักงานบริษัท ยูเอส สตีล ที่ใจกลางเมืองพิตต์สเบิร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย เมื่อ 4 ก.ย. 2567 เพื่อสนับสนุนการเข้าซื้อกิจการโดยบริษัท นิปปอน สตีล

เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว ไบเดนตัดสินใจสั่งระงับการเข้าซื้อกิจการนี้ของ นิปปอน สตีล หลังหน่วยงานกำกับดูแลกิจการของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ไม่สามารถตัดสินได้ว่า จะอนุมัติข้อตกลงนี้ได้หรือไม่ โดยปธน.สหรัฐฯ ระบุในแถลงการณ์เกี่ยวกับการตัดสินใจนี้ว่า เป็นเพราะ “อุตสาหกรรมเหล็กกล้าที่สหรัฐฯ เป็นเจ้าของและดำเนินงานเอง และเป็นกิจการที่แข็งแกร่งนี้ เป็นตัวแทนของความสำคัญในลำดับต้น ๆ ด้านความมั่นคงของประเทศ ... หากไม่มีคนงานในอุตสาหกรรมเหล็กกล้าภายในประเทศและการผลิตเหล็กกล้าภายในประเทศแล้ว ประเทศของเราจะแข็งแกร่งน้อยลงและขาดความมั่นคงมากขึ้น

ขณะที่ เจ้าหน้าที่รัฐบาลต่างออกมายืนยันว่า การตัดสินใจของไบเดนในเรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่น สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ นี่เป็นครั้งแรกที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ สั่งสกัดกั้นการควบรวมกิจการระหว่างบริษัทอเมริกันและบริษัทญี่ปุ่น

การตัดสินใจดังกล่าวของไบเดนมีออกมาหลังจากคณะกรรมาธิการด้านการลงทุนต่างประเทศในสหรัฐฯ หรือ CFIUS ไม่สามารถหาข้อยุติเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านความมั่นคงแห่งชาติจากข้อตกลงซื้อขายกิจการนี้ได้ ในการหารือเมื่อเดือนที่แล้ว ก่อนจะส่งรายงานในเรื่องนี้มาให้ปธน.สหรัฐฯ คนปัจจุบันซึ่งจะหมดวาระดำรงตำแหน่งในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้าซึ่งก็เป็นช่วงเวลาที่ไบเดนต้องหาข้อสรุปและตัดสินใจขั้นสุดท้ายว่า จะให้ไฟเขียวหรือจะล้มข้อตกลงนี้

  • ที่มา: เอพี

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG