เอ็นเอฟที (NFT) หรือ นอนฟันจิเบิล โทเคนส์ (Non-fungible tokens) ซึ่งเป็นชื่อเรียกสินทรัพย์ดิจิตอลที่มีเพียงชิ้นเดียวในโลกและไม่สามารถทำซ้ำหรือคัดลอกได้นั้น มีคุณสมบัติคล้ายกับรองเท้าบางรุ่นอยู่มาก
ทั้งสองมีปริมาณจำกัด และอาศัยความต้องการที่พุ่งสูงเพื่อสร้างกระแสและทำให้เกิดการเก็งกำไรในตลาดขายต่อ ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่แบรนด์รองเท้าและอุปกรณ์กีฬาดังอย่าง ไนกี (Nike) อาดีดาส (Adidas) และอันเดอร์ อาร์เมอร์ (Under Armour) จะกระโดดลงไปเล่นในตลาด NFT ด้วย ตามการรายงานของสื่ออเมริกัน The Wall Street Journal
สินทรัพย์ดิจิตอล NFT ครอบคลุมงานศิลปะ วีดีโอ และอะไรก็ตามที่อยู่ในโลกดิจิตอล ที่สามารถนำไปซื้อขายแลกเปลี่ยนได้ ซึ่งสำหรับไนกีและอาดีดาสนั้น NFT อาจจะมาในรูปแบบของรองเท้ากีฬาดิจิตัลที่ควรค่าแก่การสะสม หรือ เป็นรองเท้าที่เจ้าของนั้นใช้สวมใส่ในโลกดิจิตอล เช่น ในวีดีโอเกมหรือในเมตาเวอร์ส (metaverse) ในบางกรณีนั้น NFT เป็นได้ทั้งรองเท้าดิจิตัลและทั้งสิทธิ์ที่จะได้รับรองเท้าจริงในอนาคต โดยทำหน้าที่เป็นเหมือนกับตั๋วสำหรับสินค้าที่จับต้องได้จริง
เมื่อเดือนที่ผ่านมา ไนกีได้ลองชิมลางในตลาด NFT โดยการเข้าซื้อ RTFKT (ออกเสียงว่า อาร์ทิแฟคท์ - artifact) สตาร์ทอัพที่สร้างรองเท้ากีฬาและของสะสม NFT อื่น ๆ ซึ่งเป็นการตามรอยแบรนด์คู่แข่งอย่าง อันเดอร์ อาร์เมอร์ และอาดีดาส ที่การชิมลาง NFT ในระยะแรกถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
ในการเปิดตัวสินค้าในตลาด NFT เมื่อเดือนที่ผ่านมา ทั้งอาดีดาสและอันเดอร์ อาร์เมอร์ สามารถขายสินค้าหมดไปอย่างรวดเร็ว โดยมูลค่าที่อาดีดาสขายไป คิดเป็น 23 ล้านดอลลาร์ ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง
ส่วนคนที่ซื้อ NFT ชุด “Into the Metaverse” ของอาดีดาสไปครอบครอง ด้วยสนนราคาประมาณ 765 ดอลลาร์นั้น สามารถนำไปขายต่อได้มากกว่า 2,500 ดอลลาร์ในตลาดซื้อขาย NFT ที่ชื่อ โอเพนซี (OpenSea)
ส่วนรองเท้ากีฬาเสมือนจริงของ อันเดอร์ อาร์เมอร์ รุ่น Genesis Curry Flow ถูกนำออกขายครั้งแรกราคาคู่ละ 333 ดอลลาร์ ก่อนที่จะถูกนำไปขายต่อในราคาสูงถึงคู่ละ 551 ถึงกว่า 15,000 ดอลลาร์
ที่ผ่านมา การนำรองเท้ากีฬาไปขายต่อเพื่อทำกำไรมหาศาลนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ รองเท้าไนกีรุ่น แอร์ จอร์แดน (Air Jordan) นั้นออกขายในราคาคู่ละ 65 ดอลลาร์ในปี ค.ศ.1985 ก่อนที่จะเรียกราคาได้ 20,000 ดอลลาร์ในการนำเอามาขายใหม่ในปีที่ผ่านมาผ่านแพลตฟอร์ม StockX
แต่ทว่า การขายสินค้าเสมือนจริงในตลาด NFT ทำให้บริษัทเหล่านี้สามารถเคลมรายได้จากตลาดที่ผู้ซื้อนำสินค้ามาขายต่อ หรือ resale market ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ในการนำขายรองเท้าดิจิตอล NFT ไปชายต่อ มีการตั้งโปรแกรมเรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์หรือเปอร์เซ็นต์ไว้ในบล็อกเชน ทำให้แบรนด์กีฬาเหล่านี้สามารถมีรายได้จากเปอร์เซ็นต์การขายต่ออย่างต่อเนื่อง ซึ่งต่างจากการซื้อขายรองเท้าจริง ที่แบรนด์เหล่านี้ไม่สามารถหักรายได้จากยอดขายทุกครั้งที่มีการนำไปขายต่อ
ตัวอย่างเช่น RTFKT สตาร์ทอัพที่ผลิตรองเท้ากีฬาเสมือนจริงที่ไนกีเข้าซื้อนั้น จะหักค่าลิขสิทธิ์ 5% ทุกครั้งที่มีการนำอวตารออกขายหรือมีการนำไปขายต่อ และหัก 10% สำหรับผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น รองเท้าเสมือนจริง
มีการคาดว่าตลาดขายของต่อ หรือ resale market มีมูลค่าอย่างน้อย 6 พันล้านดอลลาร์ทั่วโลกในปี ค.ศ. 2020 หรือเทียบได้กับรายได้ของไนกีในประเทศจีนประเทศเดียวในปี ค.ศ.2019
นอกจากเรื่องโครงสร้างของการเก็บค่าลิขสิทธิ์ที่จูงใจแล้ว แบรนด์ยังสามารถนำเอาสินค้า NFT มาเป็นการชิมลางตลาดขายสินค้าที่จับต้องได้ เช่น อาดีดาสได้เสนอขายสินค้า NFT และสิทธิ์ในการที่จะได้รับสินค้าจริงแบบเอ๊กซ์คลูซีฟโดยไม่มีค่าใช้จ่ายอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น เสื้อกันหนาวมีฮู้ด หรือหมวกกันหนาว
ปัจจุบันยังมีผู้ที่ยังแสดงความกังขาเกี่ยวกับ NFT อยู่มาก แต่การจัดเก็บสำหรับสิ่งที่เป็นที่ต้องการของสังคมและมีราคาสูงในรูปแบบดิจิตอลนั้น ทำให้การตรวจสอบความแท้เทียม การโอนหรือชายของชิ้นนั้น ๆ ทำได้ง่ายกว่าเมื่อเทียบกับการขายรองเท้าหรือภาพวาด
การสำรวจโดย CivicScience ในเดือนเมษายนปีที่ผ่านมา พบว่าผู้ที่สนใจ NFT และผู้ที่สนใจหรือสะสมรองเท้ากีฬา ยังเกือบจะเป็นกลุ่มเดียวกัน ผู้ที่มีอายุระหว่าง 18-24 ปี ตอบว่าพวกเขามีความคุ้นเคยกับ NFT เป็นอย่างมาก โดย 14% กล่าวว่าพวกเขาลงทุนใน NFT และ 18% ตอบว่าพวกเขาสนใจที่จะลงทุนใน NFT แต่ในขณะเดียวกัน ด้วยความที่คนสองกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเดียวกัน จึงทำให้มีข้อเสีย คือเงินทุนจำกัด เมื่อคนส่วนใหญ่เลือกลงทุนในโลกเสมือนจริง หรือตลาด NFT เสียมากกว่า จึงทำให้ความต้องการซื้อรองเท้ากีฬาจริง ๆ นั้นลดฮวบลงไปมาก
และถึงแม้ว่า รองเท้ากีฬาเสมือนจริงจะไม่สร้างเรื่องน่าปวดหัว เช่น ปัญหาห่วงโซ่การผลิตที่ติดขัด ให้กับแบรนด์ต่าง ๆ แต่ NFT ก็มีความเสี่ยงอื่น ๆ เช่นกัน NFT บางชิ้น มีการซื้อขายบนบล็อกเชนที่มีการชาร์จค่าธรรมเนียมสูงมากต่อการซื้อขายแต่ละครั้ง ผู้ซื้อ NFT อาจจะต้องจ่ายภาษีในอนาคต นอกจากนี้ ผู้ซื้อสินค้าดิจิตอลก็มักจะเป็นนักวิจารณ์ตัว่ยงอีกด้วย พวกเขาอาจจะชื่นชมสินค้าที่ทำออกมาดีจนเกิดเกิดกระแสที่ดีมาก แต่ในขณะเดียวกันก็อาจจะวิพากษ์วิจารณ์สินค้าที่หน้าตาย่ำแย่จนสินค้าชิ้นนั้น “ตายไป” อย่างรวดเร็ว
ตลาด NFT เองก็กำลังเติบโตอย่างฉุดไม่อยู่ ในปี ค.ศ.2020 มีการซื้อขายสินค้า NFT คิดเป็นมูลค่ากว่า 100 ล้านดอลลาร์ แต่ในปีที่ผ่านมา Chainanalysis ประเมินว่ามูลค่าการซื้อขาย NFT ได้พุ่งกระฉูดถึง 44,200 ล้านดอลลาร์