นักวิจัยแห่ง London School of Economics ในอังกฤษตั้งสมมติฐานว่า ตามปกติมนุษย์ทั่วไปชอบทำงานในเวลากลางวันมากกว่าตอนกลางคืน คนที่ชอบนอนดึกจึงดูเหมือนว่าได้วิวัฒนาการก้าวหน้าไปอีกขั้นซึ่งอาจเกิดจากการมีโครงสร้างความคิดสลับซับซ้อนขึ้น ในขณะที่ผู้ที่มีระดับไอคิวต่ำกว่ามีแนวโน้มที่จะทำงานหรือกิจกรรมประจำวันในช่วงเวลากลางวันมากกว่า พูดให้ชัดเจนก็คือ คนที่ไอคิวสูงจะเริ่มปรับตัวให้นอนดึกกว่านั่นเอง
ถึงตอนนี้คำถามที่หลายคนสงสัยก็คือ ถ้าอยากฉลาดกว่าเดิมก็ให้เข้านอนดึกๆ ใช่หรือไม่? นักวิจัยบอกว่าคำตอบไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เพราะรายงานหลายชิ้นชี้ว่าพฤติกรรมการนอนหลับของคนเราขึ้นอยู่กับลักษณะพันธุกรรมอย่างน้อย 50% และยังปรับเปลี่ยนไปตามอายุรวมทั้งโครงสร้างร่างกายและจิตใจ โดยระดับอายุที่เชื่อว่าเป็นช่วงที่ชอบนอนดึกที่สุดนั้น คือช่วงวัยรุ่นตอนปลายและวัย 20 ต้นๆ
อย่างไรก็ตาม รายงานหลายชิ้นบอกว่าการเข้านอนดึกหรือนอนตอนเกือบเช้าเป็นประจำก็มีข้อเสียนะครับ คือทำให้สภาพจิตใจไม่มั่นคง อารมณ์แปรปรวนง่าย และอาจมีปัญหาเกี่ยวกับการติดยาเสพติดหรือทานอาหารไม่เป็นเวลา ตลอดจนมีแนวโน้มที่จะดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่มากกว่าคนตื่นเช้าอีกด้วย นอกจากนี้ รายงานบางชิ้นยังพบว่า นักเรียนนักศึกษาที่ชอบนอนดึกตื่นสายมีเกรดเฉลี่ยต่ำกว่าเพื่อนๆที่ตื่นเช้า และผู้ที่ตื่นเช้าเป็นประจำนั้น มีแนวโน้มที่จะเป็นคนมีสติสัมปชัญญะดี มีความรับผิดชอบ ระมัดระวัง ไม่ลดละ และไม่ท้อถอย
คนญี่ปุ่นมีสำนวนว่าม้าในตอนเช้ามีพละกำลังแข็งแรงกว่า ฝรั่งก็มีสุภาษิตว่า นกที่ตื่นแต่เช้าจะจับหนอนได้ก่อน แต่หลายคนบอกว่าขอเป็นนกฮูกหรือค้างคาวไอคิวสูงดีกว่า ได้กินหนอนตัวสุดท้ายที่เข้านอนช้าที่สุดก็คงไม่เป็นไร