สำนักงานอัยการรัฐนิวยอร์คกล่าวว่าได้ทดสอบอาหารเสริมขายดีที่กล่าวอ้างว่าผลิตจากสมุนไพร ของบริษัทธุรกิจขายปลีกรายใหญ่ 4 ราย คือ GNC, Target, Walgreens และ Walmart และพบว่า 4 ใน 5 ของผลิตภัณฑ์ที่นำมาตรวจสอบ ไม่มีสมุนไพรเป็นส่วนประกอบตามที่ระบุไว้ในฉลากของบรรจุภัณฑ์
หนังสือพิมพ์ New York Times ซึ่งรายงานข่าวเรื่องนี้ กล่าวว่า การทดสอบเป็นการตรวจหา DNA ของสมุนไพรที่ผู้ผลิตระบุไว้ในฉลาก ผลปรากฎว่า ส่วนประกอบของอาหารเสริมเหล่านั้น มักจะเป็นสารเพิ่มปริมาณราคาถูก เช่น ข้าว หน่อไม้ฝรั่ง หรือพืชผักที่ปลูกตามบ้าน นำมาป่นละเอียดเป็นผงมากกว่า ส่วนประกอบที่เป็นสมุนไพรนั้นมีพียงเล็กน้อย หรือไม่มีเลย
เรื่องสรรพคุณและความปลอดภัยของอาหารเสริม เป็นเรื่องที่ผู้เชี่ยวชาญทางสุขภาพอนามัยร้องเรียนมานานแล้ว แต่กฎหมายฉบับปี ค.ศ. 1994 ของสหรัฐ ให้การยกเว้นกับอาหารเสริม โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบที่เข้มงวดขององค์การอาหารและยาของรัฐบาล ผู้ผลิตเพียงแต่ให้การรับรองกับองค์การอาหารและยาว่าผลิตภัณฑ์ของตนปลอดภัย และได้ระบุส่วนประกอบไว้ที่ฉลากของบรรจุภัณฑ์อย่างถูกต้องตรงกับความเป็นจริง
รายงานของ New York Times กล่าวว่า วุฒิสมาชิก Orrin Hatch สังกัดพรรค Republican เป็นผู้เขียนร่างกฎหมายฉบับนี้ และได้ให้การปกป้องคุ้มครองความพยายามใดๆ ที่จะแก้ไขปรับเปลี่ยนกฎหมายนี้มาตลอด แม้จะมีกรณีอื้อฉาวเกี่ยวกับการปนเปื้อนอาหารเสริมที่ทำให้มีผู้บริโภคเจ็บป่วยและถึงแก่ชีวิตมาแล้วในอดีต
รายงานของ New York Times กล่าวไว้ด้วยว่า สว. Orrin Hatch ได้รับเงินบริจาคเป็นจำนวนมากเพื่อการหาเสียงเลือกตั้งจากอุตสาหกรรมอาหารเสริม
ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่หน่วยงานรักษากฎหมายในสหรัฐ ขู่จะดำเนินคดีกับธุรกิจขายปลีกรายใหญ่ระดับชาติสำหรับการขายผลิตภัณฑ์ที่จงใจให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่ผิดพลาดแก่ผู้บริโภค
นอกจากจะเรียกร้องให้ธุรกิจขายปลีกเหล่านี้เลิกขายผลิตภัณฑ์อาหารเสริมดังกล่าวแล้ว สำนักงานอัยการรัฐนิวยอร์คยังได้มีคำสั่งให้ธุรกิจเหล่านี้ จัดทำคำอธิบายกระบวนการที่ใช้ในการตรวจสอบส่วนประกอบอาหารเสริมให้ด้วย