ระหว่างที่ทั่วโลกปลุกกระแส #MeToo การเคลื่อนไหวทางสังคมให้ทุกคนกล้าเปิดเผยเรื่องการถูกก่อกวนรังควานทางเพศในที่ทำงาน ส่วนในญี่ปุ่นนั้นก็มีกระแสที่คล้ายกันอย่าง #KuToo เพื่อผลักดันให้ยกเลิกกฎบังคับสตรีใส่ส้นสูงในที่ทำงาน
เท้าความเล็กน้อย #KuToo เริ่มขึ้นโดย ยูมิ อิชิคาว่า นักแสดงและนักเขียนอิสระวัย 32 ปี เมื่อเดือนมิถุนายนปี ค.ศ. 2019 หวังผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อมการทำงาน และลดการเลือกปฏิบัติทางเพศในสังคมญี่ปุ่น จากประสบการณ์ส่วนตัวที่เธอถูกบังคับให้ใส่รองเท้าส้นสูงไปทำงานพาร์ทไทม์ที่บริษัทจัดงานศพ
โดยคำว่า KuToo เป็นการเล่นคำภาษาญี่ปุ่นระหว่าง kutsu ที่แปลว่ารองเท้า และ kutsuu ที่แปลว่าเจ็บปวด แปลรวมๆในภาษาญี่ปุ่นได้ว่า “เพราะใส่ส้นสูงจึงเจ็บปวด” และไปพ้องกับ #MeToo การเคลื่อนไหวทางสังคมระดับโลก
ผ่านพ้นไปเกือบ 1 ปีเต็มก็มีผู้ที่สนับสนุนและคัดค้านแนวคิด #KuToo ดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ซึ่งหนังสือพิมพ์ Washington Post พาดหัวว่า In Japan, a campaign against high heels targets conformity and discrimination เป็นการตามติด 1 ปีหลังกระแส #KuToo ในญี่ปุ่นว่าจะเป็นเพียงแค่เสียงเล็กๆที่กำลังจะเงียบหายไปหรือมีการผลักดันอะไรใหม่ๆ ขึ้นมาจากการเคลื่อนไหวนี้บ้าง
ในบทความของหนังสือพิมพ์ Washington Post พบว่า มีผู้คน 32,000 คนในญี่ปุ่นร่วมลงนามในคำร้องให้มีการยกเลิกข้อบังคับของบริษัทที่ให้ผู้หญิงสวมรองเท้าส้นสูงในที่ทำงาน ซึ่งเป็นตัวอย่างของการเลือกปฏิบัติทางเพศ และ #KuToo ติด 1 ใน 10 คำยอดฮิตในญี่ปุ่นเมื่อปี 2019
อีกด้านหนึ่ง ยูมิ อิชิคาว่า ผู้ริเริ่มกระแส #KuToo ออกหนังสือรวบรวมคำวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดของเธอ ซึ่งพบว่า 30% ของผู้วิจารณ์แนวคิด #KuToo ของอิชิคาว่าเป็นผู้หญิง รวมทั้งมีการขุดคุ้ยเรื่องในอดีตที่เธอเป็นนางแบบชุดว่ายน้ำในนิตยสารผู้ใหญ่ เพื่อให้เธอยุติการรณรงค์ให้ญี่ปุ่นแก้ปัญหาการเลือกปฏิบัติทางเพศ
นอกจากนี้มีบางส่วนที่แนะให้อิชิคาว่าแยกแยะระหว่างระเบียบการแต่งกายกับการเลือกปฏิบัติทางเพศที่มองว่าเป็นคนละเรื่องกัน และมองว่าการสวมรองเท้าส้นสูงเป็นปัญหาด้านสุขภาพของแรงงานมากกว่า ซึ่งอิชิคาว่า มองว่ามุมมองเหล่านี้เป็นภาพสะท้อนที่ทำให้ญี่ปุ่นยังคงไม่ยอมรับเรื่องการเลือกปฏิบัติทางเพศ และถือว่าล้าหลังกว่าประเทศอื่นๆในเรื่องนี้ ซึ่งตรงกับการจัดอันดับของ World Economic Forum ในปี 2020 ที่ระบุว่าญี่ปุ่นมีระดับความเท่าเทียมกันทางเพศอยู่ในอันดับที่ 121 จาก 153 ประเทศทั่วโลก
ในแง่ของภาคธุรกิจ มีผู้บริหารหญิงชาวญี่ปุ่นที่ทำงานในบริษัทต่างชาติเพียงหยิบมือที่ออกมาสนับสนุน ขณะที่ผู้บริหารหญิงในบริษัทญี่ปุ่นกลับนิ่งเฉยที่จะเคลื่อนไหวหรือแสดงความเห็นในเรื่องนี้ ที่น่าสนใจคือมีบริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ Docomo ของญี่ปุ่น ที่สั่งเปลี่ยนกฎระเบียบการแต่งกายสตรีเมื่อปีที่แล้ว ว่าผู้หญิงไม่จำเป็นต้องใส่ส้นสูงก็ได้ และบริษัทเครื่องสำอางค์ Orbis ที่เปิดโอกาสให้พนักงานหญิงแต่งกายได้ตามใจในที่ทำงาน ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่น นำโดยกระทรวงสาธารณสุขเตรียมผลักดันประเด็นการสวมส้นสูงในที่ทำงานเป็นการก่อกวนรังควานในที่ทำงานในอนาคต
คำในข่าวสัปดาห์นี้ หยิบคำว่า conformity ในพาดหัวมาขยายความกันต่อ คำว่า conformity เป็นคำนาม หมายถึง การทำตามกรอบ ทำตามกฎระเบียบ สามารถใช้เป็นกริยาได้ว่า to conform หมายถึง ทำตาม และมีกลุ่มคำที่ใช้ได้เหมือนกันก็คือ to follow the rule หมายถึง ทำตามกฎ ส่วน to abide by the law คำว่า abide by หมายถึง ยอมทำตามบางสิ่ง ดังนั้น ทั้งก้อนนี้จะหมายถึง ทำตามกฎหมายนั่นเอง นอกจากนี้มีกลุ่มคำอย่าง to toe the line นึกภาพตามการแข่งกีฬาต่างๆ อย่างวิ่งแข่งหรือชกมวย ที่มีกฎว่าจะต้องให้นิ้วเท้าอยู่ตรงเส้น ดังนั้นกลุ่มคำว่า toe the line/ to toe the line จึงหมายถึง ทำตามกฎที่วางไว้นั่นเอง
ฝั่งทำตามกฎไปแล้ว ต้องมีฝั่งที่แหกกฎ กล้าแหวกม่านประเพณีกันบ้าง คำแรกที่นึกถึงคือ to rebel คำว่า rebel เป็นได้ทำคำนามและกริยาในรูปเดียวกัน หมายถึง กบฏ, ผู้ต่อต้าน, คนดื้อรั้น และมีกลุ่มคำว่า to break to rule หมายถึง ทำลายกฎ คำว่า to cross to line หมายถึง ข้ามเส้น, ล้ำเส้น และ to go rogue หมายถึง เลิกทำตามกฎ แล้วเลือกทำตามใจตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น เราเรียกเกาหลีเหนือว่า rogue state หมายถึง รัฐที่ไม่ทำตามกฎเกณฑ์ของนานาชาติ
ส่งท้ายด้วยคำคมจากประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคเนดี้ ที่ว่า Conformity is the jailer of freedom and the enemy of growth หมายถึง การทำตามกรอบ เปรียบเหมือน ผู้จองจำเสรีภาพ และศัตรูของความเจริญก้าวหน้า