ในวันพฤหัสบดีประธานาธิบดีไบเดนออกเดินทางจากสหรัฐฯ ไปยังกรุงโรมเพื่อเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำของกลุ่มประเทศ G-20 ระหว่างวันที่ 30 ถึง 31 ตุลาคม ซึ่งคาดว่าจะมีการหารือเรื่องต่างๆ ตั้งแต่ปัญหาโรคระบาดใหญ่โควิด-19 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกและประเด็นปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจโลก เช่น การชะงักงันในระบบห่วงโซ่อุปทาน และปัญหาราคาพลังงานที่สูงขึ้น
ระหว่างที่อยู่ในอิตาลีประธานาธิบดีไบเดนมีกำหนดเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสที่กรุงวาติกันด้วย หลังจากนั้นผู้นำสหรัฐฯ จะเดินทางต่อไปยังเมืองกลาสโกว์ของสก๊อตแลนด์เพื่อร่วมการประชุม COP26 ขององค์การสหประชาชาติระหว่างวันที่ 1-2 พฤศจิกายน
ก่อนออกเดินทางจากสหรัฐฯ ประธานาธิบดีไบเดนได้เปิดเผยเค้าโครงของแผนงานเรื่องการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ของสหรัฐฯ หรือที่เรียกว่า Human Infrastructure ซึ่งจะใช้เงิน 1.75 ล้านล้านดอลลาร์เพื่อช่วยสร้างหลักประกันทางสังคมให้กับครอบครัวอเมริกันและช่วยผลักดันระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ให้เปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย
อย่างไรก็ตามตัวเลขสำหรับแผนงาน Human Infrastructure ที่มีการเปิดเผยวันนี้คือ 1.75 ล้านล้านดอลลาร์นั้นนับว่าน้อยกว่าตัวเลขที่ประธานาธิบดีไบเดนได้เคยกล่าวถึงและเสนอให้สมาชิกพรรคเดโมแครตพิจารณาเมื่อหลายสัปดาห์ก่อนถึงราวครึ่งหนึ่ง แต่ผู้นำสหรัฐฯ ก็ยอมรับว่าไม่มีใครที่จะได้ในทุกสิ่งที่ต้องการและทุกอย่างขึ้นกับการเจรจาและการยอมโอนอ่อนผ่อนปรน
และว่าถึงแม้ตัวเลขงบประมาณที่จำเป็นต้องใช้ในแผนงานเพื่อสร้างหลักประกันทางสังคมและเพื่อความมั่นคงของมนุษย์นี้จะลดลงกว่าเดิมก็ตามแต่ข้อเสนอดังกล่าวก็เรียกได้ว่าเป็นการลงทุนอย่างสำคัญเพื่ออนาคตของประเทศและของประชาชน
เดิมนั้นประธานาธิบดีไบเดนต้องการให้สภาคองเกรสจัดสรรงบประมาณ 3.5 ล้านล้านดอลลาร์เพื่อลงทุนด้านความมั่นคงทางสังคมและทรัพยากรมนุษย์ของสหรัฐฯ แต่ปัญหาขณะนี้อยู่ที่จุดยืนและความเห็นซึ่งแตกต่างกันภายในพรรคเดโมแครตเองโดยเฉพาะระหว่างสมาชิกของพรรคกลุ่มก้าวหน้ากับกลุ่มแนวทางสายกลาง อย่างเช่นสมาชิกรัฐสภาของพรรคเดโมแครตแนวทางสายกลางคือวุฒิสมาชิก Joe Manchin จากรัฐเวสต์เวอร์จิเนียและวุฒิสมาชิก Kyrsten Sienma รัฐอาริโซนาผู้ไม่ต้องการให้มีการใช้งบประมาณมากเกินไปหรือมีการเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นจากธุรกิจของสหรัฐ