สำนักงานนายกเทศมนตรีมหานครนิวยอร์กนำเสนอโครงการพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่เพื่อแสดงความสำคัญและให้ความรู้แก่สาธารณชนเกี่ยวกับธุรกิจบันเทิงยามราตรีอันเลื่องชื่อของ ‘นครที่ไม่เคยหลับไหล’ แห่งนี้
แม้หนึ่งในสิ่งที่ทำให้นิวยอร์กซิตี้ รู้จักไปทั่วโลก คือ บรรดาพิพิธภัณฑ์มากมายที่เป็นแหล่งความรู้หลากหลาย ตั้งแต่วิทยาศาสตร์ สังคม ศิลปะ ไปจนถึงวัฒนธรรมและโบราณคดีหลายแขนง สำนักธุรกิจบันเทิงยามราตรี (Office of Nightlife) ซึ่งขึ้นตรงกับสำนักสื่อและความบันเทิงของ สำนักงานนายกเทศมนตรีของมหานครแห่งนี้เชื่อว่า ควรมีการเปิดพิพิธภัณฑ์ใหม่หรือสถาบันที่ทำหน้าที่คล้ายเคียงกัน เพื่อเป็นศูนย์รวมจดหมายเหตุเกี่ยวกับธุรกิจบันเทิงหลังอาทิตย์อัสดง ที่มีส่วนทำให้มหานครนิวยอร์ก มีชื่อเสียงด้วยเช่นกัน ตามรายงานข่าวของ The Wall Street Journal
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่จากสำนักธุรกิจบันเทิงยามราตรียอมรับว่า ในเวลานี้ ยังเร็วเกินไปที่จะลงรายละเอียดเกี่ยวกับคำแนะนำการเปิดพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่นี้ โดยเฉพาะ เรื่องงบอุดหนุนและการดำเนินงาน ที่มีคำถามว่า ควรจะเป็นหน้าที่ของสำนักงานนายกเทศมนตรีมหานครนิวยอร์ก หรือขององค์กรภายนอกอื่นๆ แม้ว่า พิพิธภัณฑ์ใหม่ที่ว่านี้ถูกวางตัวให้มีหน้าที่ปรับวางภาพลักษณ์ของธุรกิจบันเทิงยามค่ำคืนให้เป็นที่รู้จักในฐานะหนึ่งในมรดกทางวัฒนธรรมของเมือง ที่มีประวัติศาสตร์อันเต็มไปด้วยสีสันมีชีวิตชีวามากมาย ทั้งยังเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของมหานครแห่งนี้อีกด้วยก็ตาม
แอเรียล พาลิทซ์ ผู้อำนวยอาวุโสของ Office of Nightlife บอกกับผู้สื่อข่าวว่า ที่ผ่านมา ธุรกิจบันเทิงยามราตรีของเมืองนี้ถูกมองว่าเป็น ‘ภาระหนี้สิ้น’ มากกว่า ‘สินทรัพย์’ เนื่องจากอุตสาหกรรมดังกล่าวต้องเผชิญปัญหามากมาย อาทิ คำร้องเรียนเรื่องเสียงดังจากชุมชนและผู้ที่อยู่อาศัยใกล้ๆ กับสถานบันเทิงหลายแห่ง ซึ่งทำให้รายงานของสำนักธุรกิจบันเทิงยามราตรี ที่มีความหนาถึง 162 หน้าและได้รับการเผยแพร่ออกมาในวันพฤหัสดีบดี มีการพูดถึงการลงมือแก้ปัญหาต่างๆ เช่น การให้ทางการของเมืองลงทุนช่วยสร้างระบบเก็บเสียงให้กับคลับหรือสถานบันเทิงต่างๆ หรืออนุมัติเงินกู้เพื่อให้ธุรกิจเหล่านี้ปรับปรุงพื้นที่ของตน ไม่ให้ไปรบกวนผู้คนที่อยู่ในละแวกใกล้เคียง เป็นต้น
นอกจากมุมมองด้านวัฒนธรรมและสังคมแล้ว รายงานฉบับนี้ยังพูดถึงหนทางช่วยผู้ประกอบการดำเนินกิจการบันเทิงยามค่ำคืนให้เป็นเรื่องราว ด้วยคำแนะนำให้ทางการเมืองและรัฐนิวยอ์รกจัดปรับขั้นตอนการทำงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อจะได้ช่วยเหลือเจ้าของธุรกิจในการยื่นขอใบอนุญาตหรืออำนวยความสะดวกการตรวจสอบพื้นที่ด้วย
รายงานข่าวเปิดเผยว่า เจ้าของคลับและสถานบันเทิงทั้งหลายที่ได้ทราบข่าวนี้ แสดงจุดยืนสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวกันอย่างกว้างขวาง พร้อมย้ำว่า มหานครนิวยอร์กซิตี้นั้นเป็นที่กำเนิดของธุรกิจบันเทิงยามราตรีเลื่องชื่อในประวัติศาสตร์อเมริกาหลายแห่งในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ยกตัวอย่างเช่น เดอะ คอตตอน คลับ (Cotton Club) ในย่านฮาร์เล็ม หรือ สตูดิโอ 54 (Studio 54) ในย่านมิดทาวน์
โนอาห์ เทปเปอร์เบิร์ก ซีอีโอร่วมของ Tao Group Hospitality ซึ่งเป็นผู้ประกอบการสถานบันเทิงและธุรกิจบริการมากมายทั่วสหรัฐฯ ให้ความเห็นว่า พิพิธภัณฑ์แห่งใหม่นี้น่าจะทำได้มากกว่าการจัดแสดง และนำเสนอประสบการณ์แบบ Immersive Experience ให้ผู้เข้าชมได้สัมผัสถึงความบันเทิงยามราตรีด้วยการผนวกเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาร่วมด้วย รวมทั้งอาจจัดให้มีชั้นเรียนเพื่อสอนงานด้านบาร์เทนเดอร์ และงานด้านดีเจ เป็นต้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ด้านการให้ความรู้แก่สาธารณะได้อย่างมาก
ก่อนเกิดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 เมื่อปีที่แล้ว แวดวงพิพิธภัณฑ์ของนิวยอร์กกำลังอยู่ในช่วงรุ่งเรือง หลังจากมีการเปิดสถาบันประเภทดังกล่าว ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ขึ้นมากมายในมหานครแห่งนี้ เช่น Fotografiska ซึ่งเป็นพื้นที่จัดนิทรรศการที่นำเสนองานด้านการถ่ายภาพล้วนๆ และ Poster House ซึ่งเป็นพื้นที่จัดแสดงศิลปะที่เกี่ยวข้องกับภาพโปสเตอร์ ขณะที่ ยังมีโครงการใหม่ๆ ที่เตรียมจะเปิดตัวขึ้นในอนาคตอันใกล้ เช่น Universal Hip Hop Museum ในเขตบรองซ์ ที่มีกำหนดเปิดให้บริการในปี ค.ศ. 2024
แอเรียล พาลิทซ์ ผู้อำนวยอาวุโสของ Office of Nightlife กล่าวทิ้งท้ายว่า เพราะยังมีความต้องการสำหรับพิพิธภัณฑ์เฉพาะกลุ่มใหม่ๆ อยู่มากในนิวยอร์กซิตี้ ดังนั้น แนวคิด “พิพิธภัณฑ์ความบันเทิงราตรี” จึงไม่น่าจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงไม่ได้