จากการศึกษาสังเกตการณ์จุดที่มีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในบริเวณต่างๆ ในมหาสมุทรทั่วโลก Alanna Mitchell นักเขียนด้านสิ่งแวดล้อมพบว่า สุขภาพของมหาสมุทรกำลังเสื่อมเสียเนื่องจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ แต่เธอเชื่อว่า ยังมีความหวังที่จะฟื้นฟูสุขภาพของมหาสมุทร
Alanna Mitchell ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “Seasick” อธิบายถึงความสำคัญของมหาสมุทรต่อชีวิตว่า ออกซิเจนที่มีอยู่ในโลกนั้น ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในทะเลในมหาสมุทร โดยสิ่งมีชีวิตเซลเดียวที่เรียกว่า phytoplankton สร้างขึ้นมา นอกจากนั้น สภาพภูมิอากาศของโลกยังมีกระแสน้ำต่างๆ ลม และปรากฏการณ์ที่เป็นวัฏจักรของน้ำเป็นสิ่งกำหนด แต่กิจกรรมของมนุษย์กำลังแปรเปลี่ยนทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับมหาสมุทรของโลก ไม่ว่าจะเป็น อุณหภูมิ ความเป็นกรดเป็นด่าง น้ำแข็งที่ปกคลุมขั้วโลก ขนาดของผืนน้ำแข็ง ตลอดจนชีวิตทั้งหลายในมหาสมุทร
ในหนังสือเรื่อง “Seasick: Ocean Change and the Extinction of Life on Earth” ที่ได้รับรางวัล Grantham 2010 นั้น Alanna Mitchell เล่าว่า ในมหาสมุทรต่างๆ ทั่วโลก มีบริเวณที่ถูกทำลายเสียหายที่เธอเรียกว่า “Dead Zones” หรือเขตมรณะทางนิเวศเกือบ 500 เขต เธออธิบายว่า Dead Zone หมายถึง บริเวณที่น้ำในทะเลหรือมหาสมุทรมีออกซิเจนน้อยมากหรือไม่มีเลย อย่างบริเวณหนึ่งในอ่าวเม็กซิโก กว้างใหญ่ราว 20,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเสียหายเนื่องจากปุ๋ยในการทำเกษครกรรมตามฝั่งแม่น้ำมิสซิสซิปปีที่ไหลออกสู่ทะเล
Alanna Mitchell อธิบายว่า เมื่อ phytoplankton ได้สารอาหารจากปุ๋ยมากๆ เข้า ก็เจริญเติบโตขยายตัวจนควบคุมไม่ได้ และสร้างอินทรียสารขึ้นมา อินทรียสารเหล่านั้นจมลงก้นทะเลแล้วถูกแบคทีเรียย่อยสลาย กระบวนการนี้ต้องใช้ออกซิเจนและแย่งออกซิเจนไปจากปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ และก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นมา เมื่อรวมกับคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีของมหาสมุทร ทำให้มหาสมุทรมีสภาพเป็นกรด และสภาพเป็นกรดของมหาสมุทรที่เพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับมลภาวะรูปแบบอื่นๆ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กำลังทำลายแนวปะการังซึ่งเป็นแหล่งสนับสนุนระบบนิเวศอันหลากหลายของมหาสมุทร
Alanna Mitchell เล่าถึงการดำเนินงานของรัฐบาลออสเตรเลียที่นำประชาชนร่วมโครงการต่างๆ เพื่อช่วยปรับปรุงฟื้นฟูคุณภาพน้ำโดยรอบแนวปะการังใหญ่ Great Barrier Reef นอกฝั่งรัฐควีนสแลนด์ ซึ่งเป็นแนวปะการังใหญ่ที่สุดในโลก การดำเนินงานนี้แสดงให้เห็นแจ้งชัดว่า การแก้ปัญหาจะต้องอาศัยพันธกรณีและความตั้งใจมุ่งมั่นของทุกฝ่ายทั่วโลกในการฟื้นฟูและพิทักษ์รักษามหาสมุทร
ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “Seasick” ยังได้เล่าถึงเกาะซานซิบาร์ (Zanzibar) ในมหาสมุทรอินอินเดียที่ชาวประมงหาปลาได้น้อยลงๆ นักวิทยาศาสตร์กำลังพยายามช่วยให้ผู้หญิงซานซิบาร์เรียนรู้วิธีเลี้ยงกุ้งเลี้ยงหอยและปลาเพื่อเป็นอาหารและขาย ซึ่งเรื่องนี้อาจช่วยแก้ปัญหาที่อุตสาหกรรมการประมงกำลังยังความเสียหายแก่ชีวิตสัตว์น้ำและระบบนิเวศในมหาสมุทรด้วย
Alanna Mitchell กล่าวว่า การดำเนินงานริเริ่มใหม่ๆ ในท้องถิ่นแบบนี้ รวมทั้งการพยายามหาพลังงานสะอาดมาใช้ ทำให้ยังพอมีความหวังว่า จะมีช่องทางหยุดยั้งและแก้กลับความเสียหายที่คนเราก่อให้เกิดขึ้นกับมหาสมุทรได้