ลิ้งค์เชื่อมต่อ

‘อิลอน มัสก์’ เผยฝังชิป ‘นิวรัลลิงก์’ ในสมองผู้ป่วยรายแรกแล้ว


โลโก้ของนิวรัลลิงค์ (Neuralink) และอิลอน มัสก์ ที่อยู่ด้านหลัง ถ่ายเมื่อ 19 ธันวาคม 2022 (ที่มา: รอยเตอร์)
โลโก้ของนิวรัลลิงค์ (Neuralink) และอิลอน มัสก์ ที่อยู่ด้านหลัง ถ่ายเมื่อ 19 ธันวาคม 2022 (ที่มา: รอยเตอร์)

อิลอน มัสก์ มหาเศรษฐีระบุในวันจันทร์ว่า นิวรัลลิงก์ (Neuralink) บริษัทสตาร์ทอัพที่เขาเป็นผู้ก่อตั้ง ได้ฝังชิปลงในสมองมนุษย์รายแรกแล้ว เพื่อทดสอบให้ผู้ป่วยอัมพาตลองสั่งการแขน-ขา ผ่านความคิด

มัสก์ ระบุในโพสท์โซเชียลมีเดีย X ว่า ผลการทดลองเบื้องต้นแสดงให้เห็นถึงคลื่นไฟฟ้าที่ดีจากเซลล์ประสาท และยังระบุในอีกโพสท์ว่า ผลิตภัณฑ์แรกของ Neuralink จะมีชื่อว่า Telepathy ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายในภาษาไทยว่า ‘โทรจิต’

เมื่อปีที่แล้ว องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ ได้อนุญาตให้ Neuralink เริ่มทำการทดลองในมนุษย์ได้

การฝังชิปในสมอง คือส่วนหนึ่งของการศึกษาของบริษัทในโครงการชื่อ PRIME ที่เป็นการทดลองการใช้งานแบบไร้สายของสมองคอมพิวเตอร์ เพื่อประเมินความปลอดภัยของการฝังชิปในสมองและการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์

ข้อมูลจากเว็บไซต์บริษัทระบุว่า การศึกษานี้จะทดสอบการทำงานของระบบการสั่งการแขนและขาของผู้ป่วยอัมพาตผ่านความคิด

Neuralink ไม่ตอบรับคำขอความเห็นเพิ่มเติมจากรอยเตอร์

ก่อนหน้านี้ บริษัทสตาร์ทอัพเคยถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับมาตรการด้านความปลอดภัย เมื่อต้นเดือนมกราคม รอยเตอร์รายงานว่า Neuralink เคยถูกปรับจากการฝ่าฝืนกฎของกระทรวงคมนาคมสหรัฐฯ เกี่ยวกับการขนย้ายวัสดุอันตราย

นอกจากนั้น ในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว สมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ จำนวนสี่รายได้ขอให้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ให้ตรวจสอบมัสก์ว่า ได้หลอกลวงนักลงทุนในประเด็นความปลอดภัยของการฝังชิปในสมองหรือไม่

เทคโนโลยีของ Neuralink จะทำงานผ่าน ‘ลิงก์’ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ขนาดเท่ากับเหรียญวางซ้อนกันห้าเหรียญ ที่ฝังเข้าไปในสมองมนุษย์ผ่านการผ่าตัดแบบ invasive surgery

ข้อมูลจากบริษัท Pitchbook เมื่อปีที่แล้วระบุว่า บริษัท Neuralink ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่รัฐแคลิฟอร์เนียและมีพนักงานมากกว่า 400 คน สามารถระดมเงินลงทุนได้อย่างน้อย 363 ล้านดอลลาร์ (ราว 12,800 ล้านบาท)

แม้การทดลองของ Neuralink จะเป็นที่ฮือฮาในหน้าสื่อ แต่มัสก์แทบจะโดดเดี่ยวบนเส้นทางการวิจัยด้านการเชื่อมต่อระหว่างสมองและคอมพิวเตอร์

ก่อนหน้านี้ทางบริษัทได้ติดต่อขอเจรจาการลงทุนกับบริษัทพัฒนาการปลูกถ่ายอวัยวะที่ชื่อ Synchron หลังจากประสบปัญหาการดำเนินงานล่าช้า

เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2022 Synchron ได้ฝังอุปกรณ์ลงในผู้ป่วยชาวสหรัฐฯ เป็นครั้งแรก แต่ในแง่วิธีการ ทางบริษัทไม่ได้ใช้การผ่าตัดเปิดกะโหลกเข้าไปฝังชิปแบบที่ Neuralink ทำ

  • ที่มา: รอยเตอร์, ข้อมูลบางส่วนจากเอเอฟพี

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG