วอร์เนอร์มีเดีย ตามหลังดิสนีย์และ Netflix ในการทบทวนเรื่องการลงทุนในรัฐจอร์เจียอีกครั้ง หากกฏหมายห้ามการทำแท้งของรัฐนี้มีผลบังคับใช้
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานครแอตแลนต้า ในรัฐจอร์เจีย กลายเป็นศูนย์กลางการผลิตรายการโทรทัศน์และภาพยนตร์ เนื่องจากผลประโยชน์จากเรื่องของภาษี และเป็นสถานที่ที่นิยมในการถ่ายทำรวมถึง Black Panther ของ Disney นอกจากนี้ยังมี The Walking Dead ซีรีส์ยอดนิยมของ AMC และซีรีส์เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ยอดนิยมของ Netflix เรื่อ Stranger Things
Ted Sarandos ผู้ดำรงตำแหน่ง Chief Content ของ Netflix กล่าวในแถลงการณ์ว่าทางบริษัทจะร่วมมือกับสหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน หรือ ACLU (American Civil Liberties Union) และองค์กรอื่น ๆ ในการคัดค้านกฎหมายนี้ในชั้นศาล
เขากล่าวต่อไปว่ามีผู้หญิงจำนวนมากที่ทำงานด้านการผลิตภาพยนตร์ในรัฐจอร์เจีย รวมถึงผู้หญิงอีกหลายล้านคน ซึ่งมีสิทธิ์แต่จะถูกจำกัดสิทธิ์นั้นโดยกฎหมายฉบับนี้อย่างเข้มงวด เนื่องจากกฎหมายยังไม่ถูกนำมาใช้ในตอนนี้ ทางบริษัทก็จะยังคงถ่ายทำภาพยนตร์ในจอร์เจียต่อไป ในขณะเดียวกันก็จะสนับสนุนบรรดาหุ้นส่วนและศิลปินที่เลือกที่จะไม่ทำงานในรัฐนี้ แต่หากกฏหมายมีผลบังคับใช้เมื่อไหร่ ทาง Netflix ก็จะคิดทบทวนใหม่เรื่องการลงทุนทั้งหมดในรัฐจอร์เจีย
การที่ผู้ว่าการรัฐจอร์เจีย Brian Kemp ลงนามในกฎหมายว่าด้วยการห้ามทำแท้งเกือบทุกกรณี ทำให้บุคคลในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และโทรทัศน์บางรายกล่าวว่าพวกตนจะไม่ถ่ายทำในรัฐจอร์เจียอีก
Kristen Wiig และ Annie Mumolo กล่าวว่าพวกเขาจะย้ายการถ่ายทำภาพยนต์เรื่อง “Barb and Star Go to Vista Del Mar” ของบริษัท Lionsgate ส่วน Reed Morano ผู้กำกับภาพยนต์ซีรีส์ของ Amazon เรื่อง “The Power” ก็จะถอนงานถ่ายทำออกจากรัฐนี้เดียวกัน บรรดาผู้ผลิตรวมถึง Christine Vachon, David Simon และ Mark Duplass ก็พร้อมใจที่จะหลีกเลี่ยงการทำงานในจอร์เจียในอนาคตด้วยเช่นกัน
Jordan Peele และ J.J. Abrams จะยังคงถ่ายทำรายการ “Lovecraft County” ของHBO ต่อไปในรัฐจอร์เจีย แต่พวกเขาจะบริจาคเงินค่าธรรมเนียมการถ่ายทำของพวกเขาทั้งหมดให้กับองค์กรที่ต่อสู้คัดค้านกับกฎหมายนี้รวมไปถึง ACLU ด้วย
ทั้งนี้ รัฐจอร์เจีย เป็น 1 ใน 8 รัฐในอเมริกาที่ผ่านร่างกฏหมายห้ามทำแท้งเมื่อตรวจพบการเต้นของหัวใจของทารกในครรภ์ ยกเว้นในกรณีของการข่มขืนหรือการร่วมประเวณีระหว่างพี่น้อง กำหนดให้มีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคมปีหน้า
อย่างไรก็ตาม ปฏิกิริยาตอบสนองต่อประเด็นการทำแท้งในฮอลลีวูดยังไม่มากเท่าเมื่อปี พ.ศ. 2559 ที่หลายๆ บริษัทได้ออกมาประณามการออกกฎหมายที่ให้เหตุผลด้านศาสนามาปฏิเสธการรับลูกค้ากลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ