การสูญเสียคนนำทางปีนเขาชาวเผ่า Sherpa จำนวนมากในเหตุการณ์นี้ทำให้เกิดการถกเถียงถึงความเสี่ยงจากการทำงานของคนนำทางชาวท้องถิ่นที่ได้รับค่าตอบแทนเพียงน้อยนิดเมื่อเทียบกับรายได้จำนวนมหาศาลของธุรกิจการท่องเที่ยวปีนเขาในเนปาล
พันเอก Satish Sharma แห่งกองทัพอินเดียได้ปีนเขาน้ำเเข็ง Everest เมื่อปีพุทธศักราช 2544 และได้กลับไปปีนเขา Everest อีกครั้งเมื่อปีที่แล้ว เขาบอกว่าในการปีนเขา คนนำทางเผ่า Sherpa จะออกเดินนำหน้านักปีนเขาเพื่อถางทางและตัดก้อนน้ำเเข็งที่ขวางเส้นทาง ซึ่งเเตกต่างจากยอดเขาน้ำเเข็งอื่นๆ
พันเอก Sharma กล่าวว่างานของคนนำทางปีนเขามักเสี่ยงและเมื่อกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา ก้อนน้ำเเข็งขนาดมหึมาได้ถล่มลงมาฝังทีมคนนำทางชาวเผ่า Sherpa จำนวน 13 คนทั้งเป็นและผู้นำทางอีก 3 คนสูญหายเเละเข้าใจว่าเสียชีวิตเช่นกัน อุบัติเหตุหนนี้ทำให้เกิดการเสียชีวิตมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาในเทือกเขา Everest
คนที่เคยปีนเขา Everest มาเเล้วต่างกล่าวว่าคนนำทางชาวเผ่า Sherpa มีความเสี่ยงสูงมากขึ้นต่ออันตรายเนื่องจากเทือกเขาน้ำเเข็งมียอดสูงถึง 8,850 เมตรนี้กลายเป็นเทือกเขาเเห่งการค้า หลายคนบอกว่าเทือกเขา Everest ไม่เหลือความท้าทายแก่นักปีนเขาอีกต่อไปและกลายเป็นเพียงอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าที่สร้างรายได้นับล้านๆ ดอลล่าร์สหรัฐแก่ทางการเนปาลและบริษัทจัดทัวร์ปีนเขาในประเทศตะวันตก
บริษัททัวร์จะขายเเพ็คเกจทัวร์แก่นักท่องเที่ยวหลายร้อยคน ส่วนมากนักท่องเที่ยวเหล่านี้มีประสบการณ์น้อยมากในการปีนเขาน้ำเเข็งที่มีความยากระดับนี้ นักปีนยอดเขา Everest ไม่ต้องถางทางเอง ไม่ต้องขนเเท็งค์อ็อกซิเจน เชือกหรืออุปกรณ์อะไรเลยไปเลย เพราะงานทุกอย่างที่กล่าวไปกลายเป็นหน้าที่ของคนนำทางชาวเผ่า Sherpa ที่ต้องเตรียมเส้นทางให้สะดวกและง่ายแก่ชาวต่างประเทศในการปีนเขาผ่านจุดที่อันตรายจุดต่างๆ เพื่อให้นักปีนเขาออมแรงเอาไว้ปีนเขาในส่วนสุดท้ายที่ใกล้ถึงยอด อุบัติเหตุล่าสุดที่เกิดขึ้นเเสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงของคนนำทางปีนเขา Everest ผู้เสียชีวิตทั้งหมดเป็นคนท้องถิ่น
แต่สำหรับคนท้องถิ่นในหมู่บ้านรอบๆภูเขาเเห่งนี้ งานที่เสี่ยงอันตรายนี้ช่วยสร้างรายได้ราว 3,000-6,000 ดอลล่าร์สหรัฐในช่วงฤดูกาลปีนเขาที่ยาวนาน 3 เดือน ซึ่งถือเป็นรายได้ที่สูงกว่ารายได้เฉลี่ยของคนในประเทศยากจนหลายเท่าตัว
คุณ Sharad Pradhan แห่ง Nepal Tourism Board กล่าวว่าหมู่บ้านคนเผ่า Sherpa เคยเป็นหมู่บ้านยากจน แต่งานนำทางปีนเขาได้สร้างรายได้เเก่หมู่บ้าน
เขากล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่าหากเทียบดูระดับรายได้เเล้ว ชุมชนชาวเผ่า Sherpa เป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่มีรายได้มากที่สุดในประเทศเนปาลเนื่องมาจากธุรกิจการปีนเขา คนเผ่า Sherpa ไม่มีทางเลือกอื่นนอกเหนือจากงานนำทางปีนเขาหรืองานช่วยเหลือการเดินทาง
แต่หลังเกิดอุบัติเหตุ คนนำทางชาวเผ่า Sherpa บางคนปฏิเสธงานนำทางเเก่นักปีนเขาอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เป็นสัญญาณว่าพวกเขาไม่พอใจกับระดับความเสี่ยงในการทำงานที่สูงแต่กลับได้รับค่าตอบแทนเพียงส่วนน้อยนิดจากรายได้จำนวนมหาศาลของธุรกิจการท่องเที่ยวปีนเขานี้
ในช่วงแรก ชาวเผ่า Sherpa โกรธเคืองรัฐบาลเนปาลอย่างมากหลังจากทางการเสนอเงินทดแทนจำนวนสี่ร้อยดอลล่าร์สหรัฐหรือราวสองหมื่นบาทแก่แต่ละครอบครัวของไกด์นำทางที่เสียชีวิตจากเหตุก้อนน้ำเเข็งถล่ม แต่หลังจากนั้น รัฐบาลเนปาลได้เสนอค่าชดเชยมากขึ้นและชี้ว่าจะขยายความคุ้มครองการประกันภัยเเก่คนนำทางชาวเผ่า Sherpa
อย่างไรก็ตาม นี่คงไม่ทันต่อการกอบกู้ฤดูกาลปีนเขาในปีนี้เพราะนักปีนเขาชาวต่างชาติต่างเก็บของเดินทางกลับบ้าน
คุณ Sobit Kunwar เจ้าหน้าที่แห่งสมาคมผู้นำทางปีนภูเขาแห่งชาติเนปาล (Nepal National Mountain Guide Association) เขากล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่าคนนำทางชาวเผ่า Sherpa กำลังเศร้าโศกเพราะสูญเสียเพื่อนๆ และต้องการให้รัฐบาลใส่ใจต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์
ด้านคุณ Ang Tshering Sherpa ผู้อำนวยการสมาคมการปีนเขาเเห่งเนปาล (The Nepal Mountaineering Association) และเจ้าของกิจการบริษัทจัดทัวร์ปีนเขากล่าวว่าคนนำทางชาวเผ่า Sherpa จะไม่เลิกทำงานนี้อย่างแน่นอน พวกเขาเพียงเเต่เสียขวัญกับเหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้้นอยู่เท่านั้น
เขากล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่าชุมชนคนนำทางปีนเขาเป็นชุมชนที่มีความสัมพันธุ์ใกล้ชิด ทุกคนรู้จักกันหมด คนในชุมชนกำลังอยู่ในช่วงเศร้าโศกเสียใจต่อการสูญเสีย พวกเขาทำพิธีกรรมทุกวันเพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่วิญญาณผู้เสียชีวิต
นักปีนเขาบางคนรู้สึกว่าความไม่พอใจของคนนำทางน่าจะเกี่ยวเนื่องจากความไม่พอใจกับค่าตอบแทนและผลประโยชน์ที่น้อยนิดที่ได้รับเมื่อเทียบกับการบริการที่หรูหราที่นักท่องเที่ยวได้รับจากการปีนเขา Everest
พันเอก Satish Sharma จากอินเดียสังเกตุเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างมากในช่วง 12 ปีระหว่างการปีนเขา Everest ครั้งเเรกกับการปีนเขาครั้งที่สองของเขา
เขากล่าวว่า Base camp ถูกปรับให้กลายเป็นเหมือนรีสอร์ทระดับห้าดาว ทีมนักปีนเขาบางทีมนำอ่างอาบน้ำสูบลมมาด้วย พร้อมกับอุปกรณ์ติดต่อสื่อสารทันสมัยใช้อินเตอร์เน็ตติดต่อกับโลกภายนอกตลอดเวลา ลูกค้ายอมจ่ายเงินแลกกับบริการที่ทางทัวร์จัดหาให้ เขาบอกว่าการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นส่วนหนึ่งของปัญหานี้
และอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในเทือกเขา Everest หนนี้ส่งผลให้ธุรกิจปีนเขาไม่มีลูกค้ามากนักในฤดูกาลปีนเขาปีนี้ แต่นักสังเกตุการณ์หลายคนมั่นใจว่าคนนำทางปีนเขาชาวเผ่า Sherpa จะพร้อมกลับไปทำงานปีนเขาที่เสี่ยงต่อความปลอดภัยเช่นเดิมเพราะนี่เป็นงานเพียงอย่างเดียวที่พวกเขาทำได้