มีผู้คนเสียชีวิตอย่างน้อย 96 รายในรัฐที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดสองรัฐของอินเดียในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากภาวะคลื่นความร้อนสูงที่แผนเข้าปกคลุมหลายพื้นที่ของประเทศ ตามการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่อินเดียในวันอาทิตย์
การเสียชีวิตจากสถานการณ์คลื่นความร้อนนี้เกิดขึ้นที่รัฐอุตตรประเทศ ทางเหนือของอินเดีย และรัฐพิหารทางตะวันออกของประเทศ หลังทางการท้องถิ่นเตือนประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปและผู้ที่มีปัญหาโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ให้เก็บตัวอยู่แต่ในอาคารบ้านเรือนในช่วงกลางวัน
รายงานข่าวระบุว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตทั้งหมดในรัฐอุตตระประเทศมาจากพื้นที่เขตบัลเลีย ซึ่งห่างจากเมืองลัคเนา เมืองหลวงของรัฐราว 300 กิโลเมตร โดยเจ้าหน้าที่พบว่า ส่วนใหญ่มีอายุมากกว่า 60 ปีและมีปัญหาด้านสุขภาพอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งคาดว่า รุนแรงขึ้นเพราะอากาศที่ร้อนขึ้นอย่างรุนแรง
นายแพทย์ เอส เค ยาดาฟ ในเขตบัลเลีย เปิดเผยว่า ในช่วง 3 วันก่อนหน้า มีผู้ป่วยราว 300 คนเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลของเขต จากอาการป่วยต่าง ๆ ที่รุนแรงขึ้นเพราะคลื่นความร้อน
และเพราะสถานการณ์ที่รุนแรงมากในเวลานี้ เจ้าหน้าที่อินเดียได้ยกเลิกใบลาพักร้อนของบุคลากรทางการแพทย์ในเขตบัลเลีย และจัดหาเตียงเสริมให้กับห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลเพื่อรับมือกับการหลั่งไหลเข้ามาของผู้ป่วยแล้ว
ในเวลานี้ ทั้งเขตบัลเลียและพื้นที่ตอนกลางและทางตะวันตกของรัฐอุตตรประเทศกำลังถูกกระหน่ำด้วยความร้อนรุนแรงหนักอยู่
ในวันอาทิตย์ พื้นที่เขตบัลเลียมีอุณหภูมิสูงสุดที่ 43 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติถึง 5 องศาเซลเซียส ขณะที่ ระดับความชื้นในอากาศอยู่ที่ 25% ซึ่งยิ่งทำให้ความร้อนรู้สึกรุนแรงขึ้นด้วย
อดุล คูมาร์ ซิงห์ นักวิทยาศาสตร์จากกรมอุตุนิยมวิทยาอินเดีย กล่าวว่า อุณหภูมิทั่วรัฐอุตตรประเทศนั้นกำลังอยู่ในระดับที่สูงเกินปกติอยู่ และว่า สถานการณ์จะยังไม่ดีขึ้นอย่างน้อยในอีก 24 ชั่วโมงข้างหน้าด้วย
ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาอินเดียออกคำเตือนระวังภัยคลื่นความร้อนที่คาดว่า จะคงอยู่ต่อไปถึงวันที่ 19 มิถุนายน ในบางพื้นที่ของรัฐอุตตรประเทศ
ส่วนที่รัฐพิหารนั้น มีผู้เสียชีวิตจากคลื่นความร้อนแล้ว 42 รายในช่วง 2 วันที่ผ่านมา โดย 35 รายนั้นเสียชีวิตที่โรงพยาบาง 2 แห่งในเมืองปัฎนา เมืองหลวงของรัฐ ซึ่งกำลังดูแลรักษาผู้ป่วยกว่า 200 คนที่มีอาการท้องเสียและอาเจียนหนักอยู่
ในวันเสาร์ เมืองปัฎนาบันทึกอุณหภูมิสูงสุดได้ที่ 44.7 องศาเซลเซียส
ทั้งนี้ เดือนเมษายน เดือนพฤษภาคม และเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงฤดูร้อนของประเทศ เป็นเวลาที่ร้อนที่สุดของปีของอินเดีย ก่อนที่ฤดูมรสุมพร้อมฝนจะมาเยือนและทำให้อุณหภูมิลดลง
แต่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา อุณหภูมิในอินเดียปรับเพิ่มสูงอย่างเห็นได้ชัด และในช่วงที่เกิดคลื่นความร้อน อินเดียจะประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำรุนแรงด้วย
- ที่มา: เอพี