ลิ้งค์เชื่อมต่อ

‘วันขอบคุณพระเจ้า’ กับความรู้สึกที่แตกต่างของชนพื้นเมืองอเมริกัน


ภาพจำลองการเผาหมู่บ้านชนเผ่าพีควอท เมือปี 1637 โดยกลุ่มนักแสวงบุญพิวริแทนส์
ภาพจำลองการเผาหมู่บ้านชนเผ่าพีควอท เมือปี 1637 โดยกลุ่มนักแสวงบุญพิวริแทนส์

ท่ามกลางเรื่องเล่ากระแสหลักของเทศกาลขอบคุณพระเจ้า ยังคงมีความรู้สึกของชนพื้นเมืองเผ่าต่าง ๆ ที่ต่างออกไป ซึ่งสะท้อนถึงประวัติศาสตร์การถูกยึดครองจากผู้มาเยือน รวมถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้นส่วนบุคคล

เดิมทีแล้ว เทศกาลขอบคุณพระเจ้าที่มีขึ้นในวันพฤหัสบดีสุดท้ายของเดือนพฤศจิกายนในสหรัฐฯ คือวันที่ครอบครัวชาวอเมริกันมารวมตัวกันเฉลิมฉลองและสวดภาวนาขอความสำเร็จในเรื่องการเพาะปลูก สุขภาพ และการสู้รบ ก่อนที่เรื่องเล่าจะกลายมาเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์ที่กลุ่มนักแสวงบุญพิวริแทนส์จากยุโรป มาเทียบชายฝั่งในจุดที่เป็นรัฐแมสซาชูเซตส์ และแบ่งปันมื้ออาหารกับชนพื้นเมืองเผ่าแวมปานอกส์ (Wampanoags) เมื่อปี 1620

อย่างไรก็ดี เรื่องเล่าในแบบฉบับนี้ ละเลยข้อเท็จจริงที่ว่า ในอีก 17 ปีให้หลัง กลุ่มพิวริแทนส์บุกเข้าไปเผาทำลายหมู่บ้านของชนพื้นเมืองเผ่าพีควอท (Pequot) และยังจับชาวบ้านทั้งผู้หญิง ผู้ชายและเด็กไปเผาทั้งเป็น

ปัจจุบัน ชนพื้นเมืองอเมริกันให้ความหมายกับเทศกาลขอบคุณพระเจ้าในลักษณะที่แตกต่างกันไป

เชานา เชล ชาวเผ่าควีนอลท์ (Quinault) ที่อาศัยอยู่ในเมืองเฟอร์กัส ฟอลล์ รัฐมินเนสโซตา กล่าวว่า ในช่วงเทศขอบคุณพระเจ้า “คนพื้นเมืองอเมริกันกินอาหาร และดูฟุตบอลเหมือนชาวอเมริกันคนอื่น ๆ” แต่สำหรับบางคน “มันเป็นการกระตุ้นเตือน ถึงอดีตดำมืดที่ยากจะเฉลิมฉลอง”

เชลยอมรับว่า บ่อยครั้งเธอสงสัยว่าชีวิตในปัจจุบันจะเป็นอย่างไร หากชนเผ่าแวมปานอกส์ ไม่ร่วมเป็นพันธมิตรกับกลุ่มพิวริแทนส์

ภาพนักเรียนนั่งรับประทานอาหารในโรงเรียนกินนอน Carlisle Indian Boarding School เมื่อช่วงปี 1880-1889
ภาพนักเรียนนั่งรับประทานอาหารในโรงเรียนกินนอน Carlisle Indian Boarding School เมื่อช่วงปี 1880-1889

ชนพื้นเมืองอเมริกันหลายคนไม่ได้รู้จักเทศกาลขอบคุณพระเจ้า จนกระทั่งพวกเขาถูกส่งเข้าไปรับการศึกษาในโรงเรียนกินนอน ซึ่งเป็นสถานศึกษาสำหรับกล่อมเกลาให้ชนพื้นเมืองซึมซับวัฒนธรรมแบบแองโกล-อเมริกัน

โรเบอร์ตา บีเกย์ ศิลปินชนเผ่านาวาโฮที่อาศัยอยู่ในเมืองอัลเบอร์เคอร์คี รัฐนิวเม็กซิโก กล่าวว่า เขาเป็นชนพื้นเมืองรุ่นที่สองที่กินไก่งวงในวันขอบคุณพระเจ้า เขาเล่าด้วยว่า “มันเป็นธรรมเนียมในโรงเรียนกินนอน ฉันไม่เคยเข้าใจว่ามันคืออะไรไปมากกว่าการที่ครอบครัวมารวมตัวกัน กินอาหาร และช่วยปู่ย่าตายายตักน้ำหรือหาฟืน”

รีฟา สจ๊วต ชนพื้นเมืองเผ่านาวาโฮจากเมืองฟีนิกซ์ รัฐแอริโซนา เล่าว่าเทศกาลขอบคุณพระเจ้าครั้งแรกของเธอเกิดขึ้นในโรงเรียนกินนอนคริสเตียนสมัยเธอมีอายุ 4 ขวบ และถูกสอนให้รู้สึกซาบซึ้งถึงการได้รับการช่วยชีวิต

แต่สำหรับปัจจุบัน สจ๊วตเล่าว่า “ครอบครัวของฉันเฉลิมฉลองด้วยการอยู่ด้วยกัน และสั่งสอนลูก ๆ ของพวกเราถึงสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในแบบดั้งเดิม ไม่ใช่แบบฉบับที่กลุ่มผู้ยึดครองพูดถึง”

การ์ตูนที่วาดโดยรอน คอบบ์ ที่ปรากฏใน Los Angeles Free Press เมื่อ 29 พฤศจิกายน 1968 ใช้โดยได้รับอนุญาตจาก Estate of Ron Cobb
การ์ตูนที่วาดโดยรอน คอบบ์ ที่ปรากฏใน Los Angeles Free Press เมื่อ 29 พฤศจิกายน 1968 ใช้โดยได้รับอนุญาตจาก Estate of Ron Cobb

สำหรับชนพื้นเมืองบางคน เทศกาลขอบคุณพระเจ้าคือการรำลึกถึงความสูญเสียของครอบครัว อแมนดา ทาเกส วอร์ บอนเนต์ ผู้สื่อข่าวที่มีเชื้อสายชนเผ่าโอกลาลา ลาโกตา (Oglala Lakota) เล่าว่า ลูกชายของเธอเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจต่อหน้าต่อตาขณะที่กำลังกินอาหารร่วมกันในวันขอบคุณพระเจ้า จากความสูญเสียในวันนั้น ทำให้เธอไม่อบไก่งวงอีกเลย และหวังว่าแผลในใจจะหายไปในสักวัน

แต่ไม่ใช่ว่าชนเผ่าพื้นเมืองทุกคนจะมีประสบการณ์แย่ ๆ เพราะสำหรับเจมส์ เกียโก เดวีส์ นักข่าวชาวโอกลาลา ลาโกตาอีกคนเล่าว่า ครอบครัวของเขามีฐานะยากจน ต้องดิ้นรนอยู่ตลอด และเทศกาลขอบคุณพระเจ้าคือช่วงเวลาที่จะได้กินอาหารดี ๆ

นาธาเนียล ลาพอยน์ท ชาวเผ่าซิคันกู ลาโกตา ในรัฐวอชิงตัน กินอาหารที่เรียกว่า "อินเดียนทาโก" คือขนมปังทอดที่โรยหน้าด้วยเครื่องเหมือนอาหารเม็กซิกัน "ทาโก"
นาธาเนียล ลาพอยน์ท ชาวเผ่าซิคันกู ลาโกตา ในรัฐวอชิงตัน กินอาหารที่เรียกว่า "อินเดียนทาโก" คือขนมปังทอดที่โรยหน้าด้วยเครื่องเหมือนอาหารเม็กซิกัน "ทาโก"

เดวิด คอร์นซิลค์ ชนพื้นเมืองเผ่าเชอโรกีจากเมืองทาลีควาห์ รัฐโอคลาโฮมา เล่าว่าพ่อของเขาไม่เห็นด้วยกับการเฉลิมฉลองเทศกาลนี้ เพราะคนอเมริกันอินเดียนไม่มีเหตุผลที่ต้องเฉลิมฉลองอะไร แต่ก็ไม่เคยบอกเหตุผล จนกระทั่งเขาได้เรียนเรื่องประวัติศาสตร์ชนพื้นเมืองในระดับไฮสคูล จึงได้รู้เหตุผลและเริ่มอ่านงานด้านประวัติศาสตร์เพิ่มเติมอีกมากมาย

หลายปีต่อมาเขาแต่งงานกับหญิงสาวจากเผ่าเชอโรกี แต่ครอบครัวฝ่ายภรรยาเป็นฝ่ายที่เฉลิมฉลองวันขอบคุณพระเจ้าแบบใหญ่โต แต่คอร์นซิลค์มองว่า “ความแตกต่างก็คือลูกของผมและหลานของผมรู้ประวัติศาสตร์” และยังกล่าวด้วยว่า “เราแสดงความขอบคุณสำหรับพรที่เราได้รับ และแบ่งปันสิ่งที่มีในดินแดนที่เรารัก กับผู้คนที่เรารัก”

อีกด้านหนึ่ง ลิน อีเกิล เฟเธอร์ ชนพื้นเมืองเผ่าซิคันกู ลาโกตา (Sicangu Lakota) ในเมืองเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด เล่าว่าเธอเสียลูกชายไปจากเหตุการใช้ความรุนแรงโดยตำรวจเมื่อปี 2015 และในวันขอบคุณพระเจ้าปีนี้ เธอจะไปชุมนุมหน้าโรงพยาบาลเดนเวอร์ เพื่อประท้วงการที่เจ้าหน้าที่การแพทย์ตัดผมของชายชราชนเผ่าโอกลาลา ลาโกตา ระหว่างการรักษาพยาบาลโดยไม่ขออนุญาต โดยตามธรรมเนียมชนเผ่าแล้ว สมาชิกเผ่าผู้ชายจะไม่ตัดผมเลยตลอดชีวิต

เฟเธอร์กล่าวว่า “เดือนนี้เป็นเดือนมรดกชนพื้นเมืองอเมริกัน” และระบุด้วยว่า “คนของพวกเรายังคงทุกข์ทรมาน”

  • ที่มา: VOA

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG