ลิ้งค์เชื่อมต่อ

งานวิจัยชี้เด็กเล็กก่อนวัยเรียนที่ได้นอนกลางวันมีทักษะด้านความจำดีกว่าเด็กที่ไม่ได้นอนตอนกลางวัน


รายงานชิ้นล่าสุดชี้ว่า เด็กเล็กก่อนวัยเรียนและเด็กชั้นอนุบาลที่ได้นอนหลับพักผ่อนตอนกลางวันเป็นประจำจะมีทักษะด้านความจำดีกว่าเด็กที่ไม่ได้หลับกลางวัน รายงานชิ้นนี้ยังแนะนำให้ผู้ปกครองและคุณครู ให้ความสำคัญกับการนอนกลางวันของเด็กมากขึ้นด้วย

ในหลายประเทศทั่วโลก เด็กเล็กก่อนวัยเรียนและเด็กที่อยู่ในชั้นอนุบาลมักจะได้นอนกลางวันเป็นประจำทุกวัน เพราะเชื่อว่าจะเป็นผลดีต่อพฤติกรรมของเด็กๆ แต่ที่ผ่านมายังไม่มีผลการวิจัยมารองรับว่า การได้นอนกลางวันนั้นเป็นผลดีต่อเด็กเล็กจริงๆ

ล่าสุดนักวิจัยที่ University of Massachusetts วิทยาเขต Amherst ค้นพบว่า การนอนหลับพักผ่อนในตอนกลางวันจะช่วยพัฒนาความจำของเด็กเล็กก่อนวัยเรียนได้ โดยนักวิจัยได้ทดสอบกลุ่มตัวอย่างเด็กเล็กวัย 3 - 5 ขวบจำนวน 40 คน ด้วยการให้เด็กเหล่านั้นเล่นเกมประเภทเปิดภาพเหมือนกันเป็นคู่ๆตามตำแหน่งต่างๆหรือที่เรียกว่า memory game พบว่าเด็กเล็กที่ได้นอนหลับกลางวันเป็นเวลา 77 นาที สามารถจดจำภาพต่างๆ ได้ดีกว่าเด็กที่ไม่ได้นอนกลางวัน

ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา Rebecca Spencer หนึ่งในคณะนักวิจัยชุดนี้บอกว่า เด็กเล็กที่ไม่ได้นอนกลางวันนั้นจะลืมข้อมูลต่างๆที่เรียนรู้ไปในช่วงเช้าไปราว 15% แต่สำหรับเด็กที่ได้นอนกลางวันเต็มอิ่ม สามารถจดจำข้อมูลที่เรียนรู้ไปก่อนที่จะได้นอนกลางวันถึง 100%

และเพื่อให้แน่ใจว่าผลลัพธ์ที่ออกมานั้นเป็นเพราะการได้นอนกลางวันจริงๆ ไม่ใช่เพราะเด็กที่ไม่ได้นอนมีอาการหลุกหลิก หรือไม่ใส่ใจกับการทดสอบ หรือไม่มีแรงจูงใจ ทางนักวิจัยได้ทดสอบกับเด็กกลุ่มเดิมอีกครั้งในวันถัดมา และพบว่าผลที่ได้ไม่แตกต่างจากเมื่อวาน

ศาสตราจารย์ Rebecca Spencer สรุปว่า การให้เด็กเล็กได้นอนกลางวันนั้นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเรียนการสอนในชั้นอนุบาลหรือ Preschool และว่าการที่เด็กได้พักผ่อนอย่างเพียงพอก็สำคัญไม่น้อยไปกว่าแนวทางการเรียนการสอนเช่นกัน

ผลการวิจัยชิ้นนี้ตีพิมพ์อยู่ในวารสาร Proceedings of the National Academy of Science

รายงานจาก Jessiva Berman / เรียบเรียงโดย ทรงพจน์ สุภาผล
XS
SM
MD
LG