ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เชื่อว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่นั้นมักจะเริ่มมาจากติ่งเนื้อเล็กๆซึ่งเป็นจุดที่แพทย์ให้ความสนใจตรวจวินิจฉัยเป็นพิเศษในช่วงเริ่มกระบวนการส่องตรวจลำไส้ใหญ่ ติ่งเนื้อที่ว่านี้เมื่อเริ่มก่อตัวจะมีขนาดเล็กมากจนแพทย์อาจมองข้ามไป นั่นคือเหตุผลที่ทำให้เกิดการคิดค้นพัฒนาเครื่องมือที่สามารถตรวจพบติ่งเนื้อที่แทบมองไม่เห็นแต่อาจก่อตัวเป็นมะเร็งร้ายนั้นได้
คุณ Sanjiv Gambhir นักวิจัยที่มหาวิทยาลัย Stanford และเพื่อนร่วมงานได้พัฒนาเครื่องมือที่สามารถตรวจพบหรือบอกตำแหน่งเซลล์มะเร็งร้ายได้ในระดับโมเลกุลเล็กจิ๋ว โดยใช้อนุภาคนาโนทองคำผสมซิลิกาแบบเดียวกับที่ใช้ในการตรวจสอบธนบัตรปลอมหรือเอกสารปลอมต่างๆ อนุภาคดังกล่าวมีการกระจายของแสงในลักษณะเฉพาะตัว เมื่อประทับติดลงบนธนบัตรจริงจึงทำให้สามารถแยกความแตกต่างจากธนบัตรปลอมได้อย่างง่ายดาย
แต่นักวิจัยที่มหาวิทยาลัย Stanford พัฒนาแนวคิดดังกล่าวไปไกลกว่านั้น ด้วยการใส่ชั้นพื้นผิวลงบนอนุภาคนาโนเพื่อให้ยึดเกาะกับเซลล์มะเร็งได้ง่ายๆ คุณ Sanjiv Gambhir อธิบายว่าเมื่อใส่โมเลกุลโปรตีนจำพวก peptide หรือโปรตีนชนิดอื่นที่ออกแบบเป็นพิเศษเพื่อให้จดจำเซลล์มะเร็งเป้าหมายลงบนชั้นพื้นผิวของอนุภาคนาโน จะช่วยให้อนุภาคนาโนนั้นสามารถยึดเกาะติดกับเซลล์มะเร็งได้
ในการตรวจหามะเร็งลำไส้ใหญ่ แพทย์จะให้ผู้รับการตรวจดื่มของเหลวผสมอนุภาคนาโนขนาดเล็กมองด้วยตาเปล่าไม่เห็นซึ่งอาจมีจำนวนหลายพันล้านอนุภาค เมื่อของเหลวนั้นไหลลงไปตามลำไส้ก็จะไปเกาะติดกับติ่งหรือชิ้นเนื้อเล็กๆที่ยื่นออกมา จากนั้นเมื่อแพทย์ทำการส่องตรวจหามะเร็งลำไส้ใหญ่ แพทย์จะพบแสงสะท้อนเฉพาะตัวที่ออกมาจากอนุภาคนาโนที่เกาะติดกับติ่งเนื้อหรือเซลล์มะเร็งนั้น ซึ่งนักวิจัยชี้ว่าอาจมีลักษณะเหมือนกับป้ายจราจรที่สะท้อนแสงไฟจากรถยนต์ในเวลากลางคืน
คุณ Gambhir มั่นใจว่าการตรวจสอบมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยวิธีนี้จะได้รับอนุมัติภายในปีหน้า โดยเป้าหมายในระยะยาวคือนำวิธีที่ว่านี้มาใช้กับการวินิจฉัยโรคมะเร็งแบบอื่นๆเช่นมะเร็งรังไข่ เนื้องอกในสมอง และมะเร็งที่ซุกซ่อนอยู่ในส่วนอื่นๆของร่างกาย
รายงานเรื่องการตรวจหามะเร็งลำไส้ใหญ่ตั้งแต่เนิ่นๆด้วยอนุภาคนาโนตีพิมพ์อยู่ในวารสาร Science Translational Medicine