เปิดฉากขึ้นแล้วสำหรับเวทีประชุมเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ หรือ NAFTA เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ในกรุงวอชิงตัน ท่ามกลางความหวังว่าจะมีการเจรจาข้อตกลงใหม่ นับตั้งแต่สหรัฐฯ แคนาดา และเม็กซิโก ลงนามความร่วมมือนี้มาถึง 23 ปีแล้ว
สหรัฐฯหวังให้เวทีเจรจา NAFTA จะช่วยแก้ปัญหาการขาดดุลการค้าของประเทศ และพลิกฟื้นให้กลุ่มประเทศในอเมริกาเหนือกลับมาเป็นเจ้าแห่งอุตสาหกรรมการผลิตอีกครั้ง โดยผู้แทนการค้าสหรัฐฯ Robert Lightizer ออกมาบอกว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ได้ต้องการแค่การปรับแก้ข้อตกลง แต่ต้องนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง
อย่างไรก็ตาม ทางรัฐมนตรีต่างประเทศแคนาดา Chrystia Freeland บอกว่า การเจรจาในการปรับปรุงข้อตกลงให้ทันสมัย ไม่ควรคำนึงถึงแค่การวัดการเกินดุลขาดดุลการค้าเท่านั้น
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เคยออกมาโจมตีข้อตกลง NAFTA ว่าบ่อนทำลายเศรษฐกิจสหรัฐฯ ... และประกาศกร้าวว่าจะเปิดโต๊ะเจรจาให้เป็นข้อตกลงที่ยุติธรรมกว่าเดิม ... หรือไม่เช่นนั้น ก็จะยกเลิกข้อตกลงนี้เสียเลย!
มีข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นในข้อตกลง NAFTA ที่ไม่เคยปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่ลงนามร่วม 3 ชาติ เมื่อปี 2537 ซึ่งนักวิเคราะห์ทางการเมืองและเศรษฐกิจสหรัฐฯส่วนหนึ่ง เชื่อว่าข้อตกลง NAFTA มีส่วนทำให้การจ้างงานในภาคการผลิตสหรัฐฯ ลดลงถึง 5 ล้านตำแหน่ง
แต่ทาง Laura Dawson ผู้อำนวยการ Canada Institute ใน Wilson Center มองว่าข้ออ้างดังกล่าวไม่ได้พิจารณาปัจจัยของการขยายตลาดสินค้าของจีนรวมทั้งการพัฒนาระบบการผลิตอัตโนมัติที่ก้าวไกลขึ้นตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา
เช่นเดียวกับ Gary Hufbauer นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันเศรษฐกิจระหว่างประเทศ Peterson ในกรุงวอชิงตัน มองว่า
"ต่อให้ปรับปรุงข้อตกลง NAFTA เพื่อเอื้อประโยชน์ให้สหรัฐฯ ก็ไม่ได้หมายความว่าการจ้างงานในภาคการผลิตที่จ่ายค่าแรงสูงในอเมริกาจะกลับมาได้"
ขณะที่ William Spriggs หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก AFL-CIO บอกว่า การเจรจารอบใหม่นี้ ควรจะต้องขยายความร่วมมือมากกว่าการสร้างผลกำไรระหว่างกัน และต้องคำนึงถึงการปกป้องสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน และสิทธิแรงงานมากขึ้นด้วย
3 ชาติอเมริกาเหนือจรดปากกาลงนามข้อตกลง NAFTA เมื่อปี 2537 ผนึกพลังเศรษฐกิจของ 3 ชาติ ทำให้มูลค่าทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศขยายตัวจาก 2 แสน 9 หมื่น เป็น 1 ล้านล้าน 1 แสนล้านดอลลาร์ หรือจากราว 9 ล้านล้าน 9 แสนล้านบาท เป็น 37 ล้านล้าน 4 แสนล้านบาทไทย
ในการประชุม NAFTA ที่กรุงวอชิงตันในสัปดาห์นี้ ถือเป็นการเปิดฉากการหารือร่วมระหว่าง 3 ชาติ ที่คาดว่าจะมีขึ้น 7 ครั้ง ซึ่งทุกฝ่ายหวังให้การเจรจาได้ข้อสรุปในสิ้นปีนี้ ให้ทันก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีเม็กซิโกในปีหน้า