ศาสตรจารย์ อาเธอร์ ไคลน์แมน (Arthur Kleinman) ผู้อำนวยการ Asia Center ของม.ฮาร์วาร์ด ทำหน้าที่บริหารศูนย์เอเชียศึกษา มาเป็นปีที่เจ็ดขึ้นปีที่แปดแล้ว และความคืบหน้าใหม่ๆที่เกิดขึ้นช่วงหลังนี้เกี่ยวข้องเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สำหรับไทย อาจารย์ไคลน์แมนกล่าวว่าฮาร์วาร์ดกับไทยมีความสัมพันธ์พิเศษระหว่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพิจารณาถึงประวัติการเสด็จพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอุลยเดชที่โรงพยาบาลของวิทยาลัยการแพทย์ฮาร์วาร์ด
อาจารย์ไคลน์แมนกล่าวว่า ที่ผ่านมาฮาร์วาร์ดสอนภาษาไทย และหวังว่าจะเพิ่มการเรียนการสอนภาษาไทยขั้นสูงในอนาคต นอกจากนั้นฮาร์วาร์ดยังได้เปิดตำแหน่งวิทยากรด้านไทยศึกษา ภายใต้โครงการ Stanley Tambiah Lectureship เพื่อเป็นการรำลึกถึงศาสตรจารย์ สแตนลีย์ แทมไบห์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องพุทธศาสนาและประเทศไทย ที่เคยสอนอยู่ที่ฮาร์วาร์ด
และไม่นานนี้ ทางมหาวิทยาลัยยังสามารถระดมทุนสำหรับตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายวิชาการด้านไทยศึกษาอย่างเป็นทางการ เพิ่มสานต่อให้เกิดโครงการอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต
อาจารย์ไคลน์แมนกล่าวว่า ที่ควบคูไปกับการตั้งผู้รับผิดชอบโครงการไทยศึกษา คือการเพิ่มหัวหน้าฝ่ายการศึกษาด้านการเมืองมาเลเซีย และด้านศาสนาอิสลามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย
และเมื่อมองถึงประเด็นสำคัญของเอเชียตะวัยออกเฉียงใต้ในขณะนี้ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษาของฮาร์วาร์ดกล่าวว่า ปัญหาเรื่องผู้อพยพชาวโรฮิงยาและชาวบังคลาเทศเป็นหัวข้อที่น่าสนใจในมุมมองทางวิชาการด้วย
เขากล่าวว่านอกจากจะเป็นปัญหาเรื่องการย้ายถิ่นฐานแล้ว ยังมีหัวข้อที่น่าสนใจทางวิชาการคือกระบวนความคิดและค่านิยมทางสังคมที่เป็นพื้นฐานของปัญหา ซึ่งมีผลกระทบต่อการหาทางออกให้กับผู้อพยพ
ขณะนี้อาจมีคนในวงการศึกษา ทั้งคณาจารย์และนักเรียนของไทยที่มีหัวข้อวิจัยตรงกับสถาบันชั้นนำ และต้องการมาสานต่องานวิชาการที่สหรัฐ ซึ่งโอกาสเช่นนี้จะมีมากขึ้นได้หากมีการสร้างเครือข่ายทางวิชาการ
แซมซั่น ลิม (Samson Lim) นักวิชาการที่มาเยือน Massachusetts Institute of Technology หรือ MIT สถาบันการศึกษาชั้นนำของโลกอีกแห่งหนึ่งใกล้บอสตั้น กำลังเริ่มงานวิจัยด้านประวัติศาสตร์การผลิตเงินปลอมช่วงร้อยกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งเขาสนใจในเกร็ดประวัติศาสตร์ที่ว่าประเทศไทยเคยเป็นเส้นทางผ่านของเงินปลอมในอดีตด้วย
แซมซั่น ลิม ซึ่งเป็นนักวิชาการจากมหาวิทยาลัย Singapore University of Technology and Design ให้ข้อคิดว่า นักวิชาการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถเริ่มสร้างโอกาสหางานวิจัยข้ามประเทศได้จากการทำความรู้จักเป็นการส่วนตัวกับคณาจารย์ต่างประเทศไว้
เขาบอกว่า ผู้ที่สนใจทำงานวิชาการในอเมริกาด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาจให้ความสนใจกับโครงการที่มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ และมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เพราะทั้งสองแห่งขึ้นชื่อเรื่องงานวิชาการที่เกี่ยวกับภูมิภาคนี้
รายงานโดยและเรียบเรียงโดย รัตพล อ่อนสนิท