เมื่อวันอังคาร รัฐบาลเงาของเมียนมาประกาศทำ “สงครามป้องกันตัวเอง” โดยนักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า การประกาศนี้ปลุกระดมให้มีการใช้กำลังต่อต้านรัฐบาลทหารที่ปกครองประเทศในขณะนี้
รัฐบาลสมานฉันท์แห่งชาติ หรือ เอ็นยูจี ถูกจัดตั้งขึ้นเป็นรัฐบาลเงาหลังเกิดเหตุรัฐประหารโดยกองทัพเมียนมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ เอ็นยูจีเป็นกลุ่มต่อต้านรัฐบาลหลักที่ประกอบไปด้วยอดีตนักการเมืองและสมาชิกสภาที่มาจากการเลือกตั้งและเสียอำนาจไปจากการรัฐประหาร
หลังจากดูวา ลาชิ ลา รักษาการประธานกลุ่มเอ็นยูจี ปลุกระดมให้ทั่วประเทศลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐบาลทหาร มีรายงานว่า รัฐบาลทหารเมียนมาเพิ่มกำลังพลทหารรักษาความปลอดภัยมากขึ้นในนครย่างกุ้ง
ทั้งนี้ เมียนมาตกอยู่ในสภาวะวิกฤตนับตั้งแต่เกิดรัฐบาลทหารจนเกิดการประท้วงต่อต้านทั่วประเทศ กองทัพเมียนมาโค่นอำนาจของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเป็นพรรคที่ได้รับการเลือกตั้ง และคุมตัวนางออง ซาน ซู จี ผู้นำฝ่ายพลเรือน นับแต่นั้นเป็นต้นมา
ชาวเมียนมาหลายแสนคนประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหารทั่วประเทศ มีการนัดหยุดงาน เกิดการปะทะและการปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างรุนแรง องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Association Assistance for Political Prisoners ระบุว่า มีผู้ประท้วงกว่า 1,000 คนถูกสังหาร ในขณะที่กองทัพเมียนมาระบุว่าจำนวนผู้เสียชีวิตต่ำกว่านั้นมาก
การปะทะยังคงเดินหน้าต่อไป โดยบริเวณชนบทของเมียนมาและภูมิภาคที่มีชนกลุ่มน้อยอยู่ ได้รับผลกระทบหนักที่สุด โดยกองกำลังของรัฐบาลและชนกลุ่มน้อยติดอาวุธปะทะกันอย่างต่อเนื่อง โดยมีรายงานการโจมตีทางอากาศเป็นระยะ และชาวบ้านหลายหมื่นคนต้องพลัดจากถิ่นที่อยู่อาศัย
มีการจัดตั้งกองกำลังพิทักษ์ประชาชน หรือ พีดีเอฟ โดยกลุ่มกองกำลังและผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาล เพื่อรับมือกับการปราบปรามจากทางรัฐ โดยกลุ่มดังกล่าวเคลื่อนไหวไปในแนวทางเดียวกับกลุ่มเอ็นยูจี
ออง ธู เนียน นักวิเคราะห์การเมือง บอกกับวีโอเอว่า การประกาศ “สงครามป้องกันตนเอง” ของกลุ่มเอ็นยูจี เป็นการปลุกระดมการใช้กำลัง และเป็นการสร้างแรงกดดันมายังทางกลุ่มเอ็นยูจีเองให้เคลื่อนไหวมากกว่านี้ โดยเขาคาดว่าจะมีการโจมตีสู้รบมากขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้
ลอย ซัมซิท (นามสมมติ) เป็นอดีตเจ้าหน้าที่ด้านมนุษยธรรม ก่อนจะมาเป็นทหารกบฎที่อ้างว่าเป็นพันธมิตรกับกลุ่มพีดีเอฟ บอกกับวีโอเอผ่านทางล่ามว่า เขาเชื่อว่ากำลังจะเกิดสงครามกลางเมืองครั้งใหญ่ขึ้น
ทุน ออง ชเว ตัวแทนกลุ่มเอ็นยูจีในออสเตรเลีย กล่าวกับวีโอเอผ่านทางอีเมลว่า การประกาศของกลุ่มเอ็นยูจีครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า ทางกลุ่มแสดงความรับผิดชอบในการปกป้องประชาชนของตนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการปราบปรามของรัฐบาลทหาร ในขณะที่นานาชาติจับตามองและแสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ในเมียนมาร์
อย่างไรก็ตาม นายชเวระบุว่า เขาไม่คาดว่าจะมีสงครามกลางเมืองขนาดใหญ่ขึ้น เนื่องจากรัฐบาลทหารเมียนมาและรัฐบาลพลเรือนมีทรัพยากรต่างกันมาก และเขาคาดว่าจะเห็น “การปฏิวัติที่จัดการเป็นอย่างดี” ของประชาชนต่อรัฐบาลทหาร รวมถึงการโจมตีกองทัพ และการโจมตีช่องทางการสื่อสาร ช่องทางการส่งเสบียง ค่ายทหาร และคาดหวังว่าจะเห็นนายทหารแปรพักตร์ออกจากกองทัพมากขึ้น
ฮัดสัน โลแกน ผู้นำเยาวชนของกลุ่มแอเรีย 21 เรโวลูชั่น ซึ่งเป็นเครือข่ายช่วยเหลือกองกำลังพีดีเอฟในการจัดหาและฝึกอบรมสมาชิกใหม่ บอกกับวีโอเอทางข้อความว่า “สงครามป้องกันตนเอง” ครั้งนี้มีส่วนประกอบหลายอย่าง โดยกองกำลังติดอาวุธจะเป็นส่วนหนึ่งของการลุกฮือทั่วประเทศที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ ซึ่งจะมีทั้งการประท้วง การขัดขืน และการไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลทหาร
ทั้งนี้ ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และชาติตะวันตกต่างเรียกร้องให้เกิดสันติภาพและการงดใช้ความรุนแรง ในขณะที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ก็อัพเดตการแจ้งเตือนการท่องเที่ยวแก่ชาวอเมริกันในเมียนมา หลังมีการประกาศของกลุ่มเอ็นยูจีครั้งนี้
ความท้าทายในที่ประชุมสหประชาชาติ
จ่อ มิน ทุน โฆษกกองทัพเมียนมา ปฏิเสธรายงานถึงความเป็นไปได้ของการปฏิวัติ เขาระบุว่า การประกาศของกลุ่มเอ็นยูจีเป็นการเรียกร้องความสนใจก่อนที่ที่ประชุมสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น จะทำการแต่งตั้งผู้แทนของเมียนมาในสัปดาห์หน้า ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์
ทั้งนี้ ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่ของยูเอ็นครั้งที่ 76 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 14 กันยายนนี้ คณะกรรมการฝ่ายการแต่งตั้งของยูเอ็น ที่ประกอบไปด้วยสมาชิกเก้าประเทศ จะต้องตัดสินใจว่า จะแนะนำให้ผู้แทนจากรัฐบาลทหารหรือผู้แทนจากรัฐบาลพลเรือนเป็นตัวแทนของเมียนมาในยูเอ็น
หลังจากอาเซียนจัดการประชุมฉุกเฉินเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมาเมื่อเดือนเมษายน ได้มีการออกมติห้าข้อเพื่อแก้ไขปัญหาในเมียนมา อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ ทูตพิเศษของอาเซียนก็ยังไม่ได้เดินทางไปเยือนเมียนมาแต่อย่างใด
ออง ธู เนียน นักวิเคราะห์ ระบุว่า กลุ่มเอ็นยูจีมีจุดแข็งที่ด้านการทูต ไม่ใช่การทหาร โดยแม้กลุ่มเอ็นยูจีได้มีการพูดคุยกับกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ติดอาวุธ แต่ก็ยังไม่มีท่าทีว่าจะมีการจัดตั้งพันธมิตรระหว่างกลุ่มต่าง ๆ แต่อย่างใด โดกลุ่มเอ็นยูจีประกาศทำสงครามป้องกันตนเองส่วนหนึ่งเพื่อแสดงศักยภาพด้านกองกำลังของตน
ทั้งนี้ เมียนมาได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อปีค.ศ. 1948 หลังจากนั้น เมียนมาถูกปกครองโดยทหารเป็นส่วนใหญ่
กองทัพเมียนมาอ้างว่ามีการโกงเลือกตั้งขึ้นในการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ก่อนจะทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ และควบคุมตัวนางซู จี และประธานาธิบดีวิน มินท์ นับแต่นั้นเป็นต้นมา