ผู้สื่อข่าวชาวเมียนมา 3 รายที่หนีการจับกุมของรัฐบาลทหาร และถูกทางการไทยควบคุมตัวไว้ในข้อหาเดินทางเข้าประเทศโดยผิดกฎหมาย ได้รับความช่วยเหลือให้ลี้ภัยไปยังประเทศที่ 3 เรียบร้อยแล้ว
สำนักข่าว AP รายงานว่า ผู้สื่อข่าว 3 รายของสำนักข่าว Democratic Voice of Burma (DVB) ซึ่งถูกทางการของไทยจับกุมตัวในจังหวัดเชียงใหม่พร้อมนักเคลื่อนไหวชาวเมียนมาอีก 2 คน ตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมนั้น ถูกปรับรายละ 4,000 บาทและสั่งจำขังเป็นระยะเวลา 7 เดือนแต่รอลงอาญาไว้ 1 ปี
ทั้งนี้ สมาคมผู้สื่อข่าวและกลุ่มสิทธิมนุษยชนต่างๆ ได้ออกมาเรียกร้องให้ทางการไทยไม่ส่งตัวผู้ที่ถูกจับกุมทั้งหมดกลับเมียนมา เนื่องจากเกรงว่าทั้ง 5 คนจะได้รับอันตรายจากเจ้าหน้าที่ทางการเมียนมา แม้จะเป็นที่เข้าใจกันดีว่า รัฐบาลไทยและรัฐบาลทหารเมียนมานั้นมีความสัมพันธ์ฉันมิตรกันดี
กองทัพเมียนมาที่ก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนที่นำโดย นางอองซานซูจี ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ได้ดำเนินการปราบปรามกลุ่มต่อต้านด้วยมาตรการรุนแรงจนทำให้มีผู้เสียชีวิตไปหลายร้อยราย ขณะที่ทำการต่างๆ เพื่อสกัดการรายงานสถานการณ์โดยองค์กรสื่ออิสระทั้งหลาย ด้วยการถอนใบอนุญาตและทำการจับกุมผู้สื่อข่าวอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวที่อ้างข้อมูลจาก เอ จัน แหน่ง ผู้อำนวยการบริหารและบรรณาธิการใหญ่ของ DVB ระบุว่า ชาวเมียนมาทั้ง 5 รายที่ถูกทางการไทยจับกุมในข้อหาการเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ออกเดินทางออกจากประเทศไทยไปยังประเทศที่ 3 แล้ว แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดใดๆ เกี่ยวกับจุดหมายปลายทางของทั้งหมด เนื่องจาก “คดีนี้ยังคงเป็นเรื่องที่อ่อนไหวมาก”
บรรณาธิการใหญ่ของ DVB ยังระบุในแถลงการณ์ที่แสดงความขอบคุณต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยและจากทั่วโลกที่ช่วยทำให้ทั้ง 5 คน เดินทางต่อไปได้อย่างปลอดภัย และเปิดเผยว่า พนักงานทั้ง 3 คนของสำนักข่าวจะเริ่มกลับมาทำหน้าที่อีกครั้งในอนาคต “หลังผ่านพ้นช่วงเวลาอันยากลำบากนี้ไปได้แล้ว”
สำนักข่าว DVB เป็นสื่อออนไลน์อิสระในเมียนมา และเป็น 1 ใน 5 สื่อท้องถิ่นที่ถูกรัฐบาลทหารเมียนมาสั่งห้ามออกอากาศและรายงานข่าว หลังใบอนุญาตถูกถอนไป แต่สื่อแห่งนี้ก็ยังคงเดินหน้าทำรายงานสถานการณ์ในประเทศมาอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับสื่ออื่นๆ ที่ถูกแบน
ข้อมูลจาก Assistance Association for Political Prisoners ของเมียนมา ระบุว่า มีผู้สื่อข่าวราว 90 คนที่ถูกรัฐบาลทหารเมียนมาจับกุมไปตั้งแต่เกิดการทำรัฐประหาร โดยกว่าครึ่งหนึ่งของคนกลุ่มนี้ยังถูกกองทัพเมียนมาคุมขังอยู่ และอีก 33 คนหลบหนีไปซ่อนตัวได้