ศาลเมียนมาประกาศคำพิพากษาใหม่ในวันพฤหัสบดี สั่งลงโทษจำคุก ออง ซาน ซู จี อดีตผู้นำรัฐบาลพลเรือน พร้อม ฌอน เทอร์เนลล์ ชาวออสเตรเลียที่เป็นอดีตที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจ เป็นเวลา 3 ปีในข้อหาละเมิดกฎหมายความลับ ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ที่อ้างข้อมูลจากแหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับการดำเนินคดีนี้
รายงานข่าวที่อ้างแหล่งข่าวอีกแห่งและสื่อท้องถิ่นเปิดเผยว่า เทอร์เนลล์ ถูกพิพากษาว่ามีความผิดในข้อหาทำผิดกฎหมายตรวจคนเข้าเมืองด้วย และถูกสั่งลงโทษจำคุกควบคู่กันไปเป็นเวลา 3 ปี ขณะที่ อดีตผู้แทนพิเศษของอังกฤษ ผู้สื่อข่าวชาวอเมริกัน และผู้ผลิตภาพยนตร์สัญชาติญี่ปุ่น ถูกพิพากษาจำคุกจากข้อนี้เช่นกัน
ทั้งนี้ ออง ซาน ซู จี และ เทอร์เนลล์ ให้การว่าไม่ได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหาทั้งหมด ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 14 ปี
แหล่งข่าวที่ไม่ขอเปิดเผยตัวอีกรายหนึ่งบอกกับผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ ด้วยว่า คำสั่งของศาลคือ การจำคุก 3 ปี โดยไม่ต้องทำงานหนัก
อดีตผู้นำรัฐบาลพลเรือนเมียนมา เทอร์เนลล์ และสมาชิกอีกหลายคนของทีมเศรษฐกิจ คือ ส่วนหนึ่งของผู้คนนับพันที่ถูกจับกุมตัว นับตั้งแต่กองทัพเมียนมาก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนเมื่อปีที่แล้ว
จนถึงวันนี้ ออง ซาน ซู จี ถูกพิพากษาว่ามีความผิดในคดีต่าง ๆ และต้องรับโทษจำคุกเป็นเวลาอย่างน้อย 23 ปีแล้ว โดยกลุ่มต่อต้านกองทัพระบุว่า ข้อหาทั้งหลายซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการทุจริต เป็นแผนเพื่อสกัดกั้นไม่ให้เธอกลับเข้าสู่แวดวงการเมืองอีกครั้ง
รอยเตอร์ ระบุว่า โฆษกของรัฐบาลทหารเมียนมาไม่ยอมรับสายเมื่อผู้สื่อข่าวติดต่อไปในวันพฤหัสบดีเพื่อยืนยันรายงานชิ้นนี้
ขณะเดียวกัน ภรรยาของ เทอร์เนลล์ ซึ่งใช้ชีวิตอยู่ในออสเตรเลีย กล่าวว่า เธอและครอบครัวรู้สึก “ใจสลาย” ที่ได้รับทราบข่าวคำพิพากษานี้และเรียกร้องให้มีการส่งตัวสามีของเธอกลับประเทศ
รัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลีย เพนนี หว่อง ออกแถลงการณ์ที่ระบุว่า “รัฐบาลออสเตรเลียได้เฝ้าปฏิเสธการดำเนินคดีต่อศาสตราจารย์เทอร์เนลล์มาโดยตลอด และขอปฏิเสธคำพิพากษาของศาลในวันนี้ ... และขอให้มีการปล่อยตัวในทันที”
รมต.หว่อง เปิดเผยด้วยว่า เจ้าหน้าที่กงสุลออสเตรเลียไม่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาช่วยเหลือ เทอร์เนลล์ ในชั้นศาลด้วย
รายงานข่าวระบุว่า คำพิพากษาครั้งนี้มีออกมาในการพิจารณาคดีแบบปิด ที่กรุงเนปิดอว์ โดยรายละเอียดของการกระทำผิดที่ทางการฟ้องต่อจำเลยทั้งหมดนั้นถูกปิดเป็นความลับ แต่มีแหล่งข่าวแหล่งหนึ่งเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า ในกรณีของ เทอร์เนลล์ นั้น เป็น “ข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการที่เขามีเอกสารของราชการอยู่ในมือ”
ริชาร์ด ฮอร์ซีย์ นักวิเคราะห์จาก International Crisis Group เรียกสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเป็น การดำเนินคดีเพื่อแสดงอำนาจของรัฐบาลทหาร ไม่ไช่เรื่องของความยุติธรรมแต่อย่างใด
- ที่มา: รอยเตอร์